ประจวบคีรีขันธ์-รมช.เกษตรและสหกรณ์เร่งแก้ปัญหาผลกระทบจากมะพร้าวนำเข้า มะพร้าวตกต่ำ

ประจวบคีรีขันธ์-รมช.เกษตรและสหกรณ์เร่งแก้ปัญหาผลกระทบจากมะพร้าวนำเข้า มะพร้าวตกต่ำ

ภาพ-ข่าว: ณัฐธภพ พันสาย

             นที่ 18 ม.ค.66 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อม นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายนิรันตร์ มูลธิตา รองอธิบตีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว ที่ศาลาเอนกประสงค์ บ้านตะเคียนสองพี่น้อง หมู่ที่ 8 ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาการเพาะปลูกมะพร้าวและสร้างเสถียรภาพด้านราคา โดยมี นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายประยูร พะมะ สหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และผู้บริหาร พร้อมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดร่วมให้การต้อนรับ
          ซึ่งกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการนำเข้ามะพร้าวทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย พร้อมยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งงบประมาณและจัดจ้างสถาบันที่เป็นกลางมาศึกษาข้อมูลมะพร้าวในประเทศใหม่ เช่น ค่าเฉลี่ย/ต้น/ไร่ จำนวนผลผลิตทั้งประเทศ ตัวเลขการนำเข้ามะพร้าวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย ควบคุมการกะเทาะมะพร้าวนอกโรงงานทั้งมะพร้าวที่นำเข้าภายใต้กรอบ WTO และ AFTA เพราะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถควบคุมปริมาณได้ จนทำให้มีปัญหามะพร้าวล้นไปยังตลาดหัวขูด และเกิดโรคระบาด ศัตรูพืช คัดค้านการเปิดเสรีมะพร้าวขาวแช่แข็ง น้ำกะทิแช่แข็ง และน้ำกะทิสำเร็จรูปแบบไม่ควบคุม ผลักดันให้มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ และออกกฎหมายปกป้องควบคุมเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว ก่อนจะมีการพิจารณานำเข้ามะพร้าวต้องเปิดเผยข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรในอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว ผลักดันให้มีคณะกรรมการมะพร้าวแห่งชาติ โดยมีตัวแทนชาวสวนมะพร้าวแต่ละจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งของเกษตรกรในจำนวนที่เกินกว่าครึ่งของคณะกรรมการ และขอให้ภาครัฐส่งเสริมพัฒนาการผลิตมะพร้าว เช่น การวิจัยพันธุ์มะพร้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทนทานต่อโรค และให้ผลผลิตสูง การสนับสนุนงบประมาณในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดมะพร้าว การออกกฎหมายควบคุมป้องกันโรคระบาดมะพร้าว การส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชทดแทนต้นมะพร้าวที่มีอายุหลายสิบปี การผลักดันให้มีอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าวในพื้นที่ เช่น โรงงานกะทิ และกะทิผง
           ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าวเพื่อประสานการดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างการนำเข้ามะพร้าว ขณะที่ในปี 2567 จะมีอาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน หรือ อกม.ทุกตำบลในทุกจังหวัด เพื่อสำรวจจัดเก็บข้อมูลด้านพืชในแต่ละพื้นที่ เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!