“ประชาธิปัตย์”รุกเชิงนโยบาย “สันติภาพสู่สันติสุข-ความมั่นคงด้านอาหาร”ปฏิบัติการชิง 12 ที่นั่งสามจังหวัดชายแดนใต้
ภาพ-ข่าว:นายหัวไทร
น่าสนใจยิ่งสำหรับสนามเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 12 ที่นั่งในสภา กับ 4-5 พรรคการเมืองเปิดเกมชิงกันสนุกสนาน โดย 5 พรรคการเมืองที่ว่า ประกอบด้วย ประชาธิปัตย์เจ้าเก่า ที่ครองพื้นที่มายาวนาน พรรคประชาชาติ ที่มีวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าพรรค และคราวปี 2562 พรรคประชาชาติกวาดไปถึง 6 ที่นั่ง แบ่งให้ประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง ที่เหลือ 3 ที่นั่งเป็นของพลังประชารัฐ การเลือกตั้งรอบใหม่ที่กำลังจะมาถึงก็น่าจะเป็นการขับเคี่ยวกันของคู่แข่งเดิม เพียงแต่ว่า ใครจะมีนโยบายที่โดนใจประชาชนได้มากกว่ากัน ประกอบกับผู้สมัครก็ต้องมีคุณสมบัติที่โดดเด่น มีผลงานในอดีตเป็นที่ประจักษ์เพียงพอที่การที่จะส่งเข้าประกวด
กล่าวสำหรับประชาธิปัตย์ ได้เห็นความเพียรพยายามของ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในการเฟ้นหาคนใหม่ๆ เลือดใหม่ๆ เข้ามาทดแทนเลือดเก่าที่ไหลออก พร้อมกับการดึงเลือดเก่ากลับมาอย่างน่าสนใจยิ่ง ประกอบกับนโยบายใหม่ๆที่ช่วยกันคิดช่วยกันระดมสมองคิดออกมา เพื่อสองตอบต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ “ง่ายๆคือตรงใจประชาชน” เป็นที่รับรู้กันว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสนามของความขัดแย้งทางความคิด มีกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐ ที่ยังมีความพยายามในการต่อสู้ด้วยอาวุธ
แนวทาง “สันติภาพสู่สันติสุข” จึงเกิดขึ้นกับทีมงานประชาธิปัตย์ พลันที่แนวทางนี้ออกมา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 ตัวแทนแกนนำเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนชายแดนภาคใต้ จำนวนกว่า 15 คน เดินทางไปยื่นเสนอรายละเอียดร่างนโยบายสันติภาพสู่สันติสุขชายแดนใต้/ปาตานี ให้แก่นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการบริหารพรรคฯ ที่รับผิดชอบและเข้าใจพื้นที่ภาคใต้เป็นดี เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์นำไปกำหนดเป็นแนวนโยบายในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพและการแก้ปัญหาความขัดแย้งผ่านกระบวนการทางการเมืองในระบบรัฐสภา “สันติภาพไม่เคยเกิดขึ้นจากการสู้รบประหัตรประหารกัน สันติภาพย่อมเกิดขึ้นจากการเจรจาจนเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย สันติภาพจึงจะเกิดขึ้น” การฟื้นฟูอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตที่จะตามมาคือแนวทางแห่งการสร้างสันติสุขต่อไปในอนาคต เมื่อการหยุดยิง หยุดการสู้รบเกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์จึงมีแนวทางในการสร้างสันติภาพ เพื่อนำไปสู่สันติสุขต่อไป
“การรับฟังข้อเสนอจากกลุ่มตัวแทนเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีผลกระทบโดยตรงที่ต้องการให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาคราชการ ประชาชน ภาคเอกชน ที่ใช้การเมืองนำการแก้ปัญหาผ่านการเจรจาพูดคุยสร้างความเข้าใจ และเกิดการพัฒนาที่ทั่วถึง ถูกต้องสอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ตามแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
นโยบายอีกด้านของประชาธิปัตย์คือการผลักดันให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคลังอาหาร ความมั่นคงด้านอาหาร จากการเห็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นถึงศักยภาพของนิพนธ์ จึงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา และมอบหมายให้นิพนธ์ เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ทำชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหาร “นิพนธ์”ไม่รอช้าเดินเครื่องทันที เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญากู้ยืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส พร้อมทั้งมอบป้ายสนับสนุนเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้แก่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส จำนวน 14 กลุ่ม และมอบนโยบายการขับเคลื่อน โครงการเมืองปศุสัตว์ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนใต้
โดยที่กองบริหารกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ได้พิจารณาอนุมัติ สัญญายืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรเลี้ยงโคให้กับวิสาหกิจชุมชนจำนวน 14 กลุ่ม 14 โครงการ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการต่อยอดอาชีพ การเลี้ยงโคเนื้อลังกาสุกะและยกระดับสินค้าโคเนื้อให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชน นำไปสู่การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้ออย่างยั่งยืน รวมวงเงินทั้งสิ้น 54,149,600 บาทประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี จำนวน 13 กลุ่ม 13 โครงการ วงเงิน 50,538300 บาทและในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสจำนวน 1 กลุ่ม 1 โครงการ วงเงิน 3,611,300 บาท
นิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมจะร่วมขับเคลื่อนการทำงานให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ผ่านโครงการสำคัญในพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร เช่นโครงการเมืองปศุสัตว์ชายแดนภาคใต้ โดยกรมปศุสัตว์และหน่วยงานในสังกัดได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ และการพัฒนางานด้านการเกษตร ได้มีการมอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การพัฒนาส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน”ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้ การพัฒนาแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
ทั้งนี้นโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกร และเศรษฐกิจฐานราก การเข้าถึงแหล่งเงินทุน มุ่งเน้นการปฏิบัติงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการและภาคีเครือข่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายซึ่งการสนับสนุนสินเชื่อเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส เพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโค การผลิตอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิต การปลูกแปลงพืชอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการ และการแปรรูปโคเนื้อคุณภาพสูง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อความมั่นคง และจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่เกษตรกรให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และจะเป็นการพัฒนาเพื่อต่อยอด และเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ต่อไปซึ่งเราอยากเห็นโครงการนี้ประสบสำเร็จ และเป็นโครงการต้นแบบของการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร
ผมเชื่อว่าการรวมกลุ่มอย่างนี้จะเกิดในพื้นที่อื่นๆด้วย ในการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและเกษตรกรของเรามีองค์ความรู้ ทางด้านวิชาการ มีความรู้ด้านบริหารจัดการ ทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำที่สุด ทำอย่างไรให้เกิดกำไรสูงสุด ฉะนั่นสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเรารวมกลุ่มกันและเรียนรู้กัน นี่คือจะเป็นปัจจัยเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคลังกาสุกะ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างกลุ่มต้นแบบการนำไปสู่ความสำเร็จในการทำให้พื้นที่ภาคใต้ชายแดน เป็นพื้นที่มี่มีความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก โดยมุ่งเน้นว่าจะทำอย่างไร จะสร้างโอกาสให้คนเชื่อมั่นว่า อาหารที่มาจากประเทศไทย เป็นอาหารที่มีคุณค่า ถูกสุขลักษณะตามหลักการฮาลาล นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเข้าไปพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสอดรับกับยุทธศาสตร์ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” และจะนำมาซึ่งการสร้างแรงจูงใจ ตัดสินใจของประชาธิปัตย์เลือก”ประชาธิปัตย์”เข้าไปทำหน้าที่แทน