ประจวบคีรีขันธ์-พร้อมรับมือภัยแล้ง-เฝ้าระวังปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5
ภาพ/ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร
พร้อมรับมือภัยแล้ง-เฝ้าระวังปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5
เมื่อวันที่ 3 มี.ค.66 นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ประจวบฯ และศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จ.ประจวบฯ ที่ห้องประชุมศากลางจังหวัดฯ มีหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุม เพื่อติดตามแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาสาธารณภัยในพื้นที่และการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566 โดยในส่วนของสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปัจจุบันพบว่าในพื้นที่ จ.ประจวบฯ ยังไม่มีปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดชุดปฏิบัติการลาดตระเวนดับไฟป่า สร้างเครือข่ายอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ เฝ้าระวังการเกิดไฟป่า การเผาในที่โล่งแจ้งและพื้นที่การเกษตร รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาของการเกิดมลพิษฝุ่นละอองจากการเผาในที่โล่งแจ้ง ส่งเสริมให้เกษตรกรไถกลบตอซัง แปรรูปเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การตรวจจับรถปล่อยควันดำ การตรวจควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ให้ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการฉีดล้างทำความสะอาดถนนและพื้นที่สาธารณะเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งปีนี้ จังหวัดได้จัดทำแผนเผชิญเหตุช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้งทั้ง 8 อำเภอ โดยขณะนี้ยังไม่มีรายงานพื้นที่ประสบภัยแล้งรุนแรง ส่วนอ่างเก็บน้ำหลัก 9 แห่งของ จ.ประจวบฯ ล่าสุด มีปริมาณน้ำรวมร้อยละ 53 ของความจุอ่างทั้งหมด ส่วนอ่างเก็บน้ำปราณบุรี ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำ 192 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุอ่าง 391 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 49 เบื้องต้นได้มีการประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมพร้อมตั้งฐานบินปฏิบัติการที่ท่าอากาศยานหัวหิน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.66 แต่หากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มวิกฤต อาจจะตั้งฐานบินปฏิบัติการเร็วขึ้นเป็นวันที่ 15 มี.ค.66 เพื่อดำเนินการทำฝนเทียมเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำและสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่เกษตรกรรม โดยการขึ้นบินปฏิบัติการจะดำเนินการภายใต้สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและจะประสานข้อมูลการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่เพื่อป้องกันผลกระทบสร้างความเสียหายให้กับการเพาะปลูกพืชบางชนิด.