ประชาธิปัตย์เดินหน้าผลักดัน “จังหวัดจัดการตนเอง” ตามอุดมการณ์กระจายอำนาจ
ภาพ-ข่าว:นายหัวไทร
พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับปากปรับเงินเดือนให้ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ทั้งหมดขึ้นเป็นเทศบาล แน่นอนที่สุดว่านี้คือการหาเสียงกับท้องถิ่นในช่วงสถานการณ์การเมืองที่กำลังจะมีการเลือกตั้งไม่ว่าจะเกิดจากการยุบสภา หรือหมดวาระ การเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้แน่นอน เมื่อพล.อ.ประยุทธ์จุดประกายเรื่องการเมืองท้องถิ่น เตรียมยกฐานะ อบต.ขึ้นเป็นเทศบาลทั้งหมด ก็ต้องมองไปยังพรรคการเมืองอื่นๆว่ามีนโยบายกระจายอำนาจ หรือการเมืองท้องถิ่นอย่างไรบ้าง
“ถ้าผมได้กลับไปเป็นรัฐบาลภายใต้ทีมสาธิตที่จะต้องทำคือเก็บภาษีส่วนกลางกลับมาที่บ้านเราให้มากกว่านี้ นั้นคือจังหวัดจัดการตัวเอง”ทีมสาธิต” ต้องทำและอาจนำไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯผ่านประชาชนจังหวัดแรก จังหวัดที่2 และจังหวัดที่3 ต้องเกิดขึ้นให้ได้ภายในพื้นที่8จังหวัด” สาธิต ปิตะเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อหน้าผู้สนับสนุนในวันเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร 8 จังหวัดภาคตะวันออก ตีความได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าในการผลักดัน “จังหวัดจัดการตนเอง” ในจังหวัดที่มีความพร้อม เช่น ระยอง เชียงใหม่ น่าน สมุทรปราการ ภูเก็ต เป็นต้น ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไร ต้องไปเขียนไว้ในกฎหมาย ซึ่งแนวนโยบายกระจายอำนาจของประชาธิปัตย์น่าจะมีเรื่องของการยกฐานะบางพื้นที่ขึ้นเป็น “มหานคร”ด้วย เช่น มหานครแม่สอด เป็นต้น
หากย้อนกลับไปดูเรื่องการ กระจายอำนาจจะพบผลงานมากมายของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากเดิมที่บริหาร-ดูแล โดยกำนัน เป็นนายกฯอบต.โดยตำแหน่ง ทำงานทั้งการพัฒนา และความสงบเรียบร้อย แม้ช่วงแรกๆจะมีอุปสรรค มีปัญหา มีข้อครหา แต่เวลาผ่านพ้นไป จะเป็นบทพิสูจน์ และกลั่นกรองคนเข้าสู่ระบบผ่านการเลือกตั้ง วันนี้ อบต.เริ่มก้าวข้ามคำว่า ผู้บริหารมาจากผู้รับเหมา มาจากผู้มีอิทธิพล เริ่มมีคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูง กลับบ้านไปรับใช้บ้านเกิดมากขึ้น เกิดโครงการ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมากมาย แต่คำว่า อบต.ก็ยังต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนต่อไปอีกมาก เพื่อก้าวผ่านข้อครหา “กินหัวคิว-กินเปอร์เซนต์” ไปให้ได้ แล้วเราจะเห็นแสงสว่างสดใสมากขึ้น รัฐบาลเองก็มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรท้องถิ่นเข้มแข็ง ยิ่งถ้ายกฐานะเป็นเทศบาลโอกาสของท้องถิ่นก็จะมากขึ้นผ่านงบอุดหนุนจากรัฐบาล
การยกฐานะสุขาภิบาลมาเป็นเทศบาลทั่วประเทศ การให้นายกฯอบจ.มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน แทนที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสวมหมวกสองใบ หรือให้สมาชิกซาวเสียงกันเองเลือกนายกฯอบจ.ผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นผลงานการผลักดันของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดให้ผู้ว่าฯต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีสภาฯกทม.(สก.) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภาเขต (สข.)เป็นที่ปรึกษาของ ผอ.เขต ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯมาแล้วหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” หรือ มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แม้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ประชาธิปัตย์ โดย ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จะพ่ายให้กับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” แต่คะแนนก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร ไล่มาอยู่ลำดับ 2
ถามว่าการจายอำนาจจะเดินไปถึงจุดไหน พรรคการเมืองบางพรรค อย่างพรรคก้าวไกล เสนอแบบสุดขั้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยกเลิกนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคด้วย พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเสนอเป็นนโยบายให้เลือกตั้งผู้ว่าราชจังหวัดทุกจังหวัดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่มาคราวนี้น่าจะเสนอในรูปแบบของ “จังหวัดจัดการตนเอง” จังหวัดไหนพร้อมก็ยกฐานะขึ้นมา เช่น ภูเก็ต-เมืองท่องเที่ยว เหมือนกับพัทยา และเชียงใหม่-น่าน สมุทรปราการ เมืองอุตสาหกรรม-เมืองการบิน ระยอง-เมืองอุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นต้น เป็นการทดลองการจัดการตนเอง อันเป็นแนวคิดค่อยเป็นค่อยไป
การเลือกตั้งครั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทย เสนอแนวคิด “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ก็ยังแค่เสนอให้ลดจำนวนกระทรวง ทบวง กรม ลง ส่วนเพิ่มอำนาจประชาชนจะทำอย่างไร ยังอธิบายไม่ชัด ส่วนจะมีการปรับปรุงนโยบายลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชนอย่างไร ยังไม่เห็นความก้าวหน้า เพื่อไทยเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในทุกจังหวัดที่พร้อม (6 ธ.ค. 65) รูปธรรมกว่านั้นคือ ในปี 2570 เพื่อไทยตั้งเป้ากระจายอำนาจจากโรงพยาบาลของรัฐไปยังท้องถิ่นในรูปแบบองค์การมหาชน หรือกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ ส่วนก้าวไกลมีนโยบายจัดทำประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และภายใน 4 ปีจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ส่วนกลางต้องแบ่งสรรให้ท้องถิ่นจากไม่เกิน 30% เป็นไม่น้อยกว่า 35% เป็นต้น น่าเสียดายพรรคพลังท้องถิ่นไทย มี ส.ส.ในสภา มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่น มี ส.ส.ที่มาจากการเมืองท้องถิ่น แต่ไม่ได้ขับเคลื่อนจริงจังกับการกระจายอำนาจ
นึกย้อนไปในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 13 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ตอนนั้นมีอย่างน้อย 4 พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังธรรม, พรรคความหวังใหม่ และพรรคเอกภาพ ส่วนหนึ่งเสนอในเชิงยุทธการวิธีหาเสียง เพราะเชื่อว่าประชาชนจะให้การสนับสนุน ทว่า เมื่อทั้ง 4 พรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว นโยบายนี้ก็หายไปจากนโยบายของรัฐบาล โดยพรรคแกนนำอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคความหวังใหม่เห็นว่านั่นเป็นเพียงนโยบายพรรคการเมือง ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล
รัฐบาล หรือพรรคการเมือง ควรมีนโยบายเกี่ยวกับการกนะจายอำนาจให้ชัดเจน 1. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงของประชาชน ในกระบวนการนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ 2.ส่งเสริมให้มีการลดบทบาทราชการส่วนภูมิภาคลง เพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3. ลดระบบราชการส่วนกลางให้มีขนาดเล็กลง เพิ่มกำลังคน งบประมาณ เครื่องไม้เครื่องมือไปยังท้องถิ่น 4. คืนอำนาจการจัดการตนเองให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการกันเอง 5. ผลักดันกฎหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับ
ถ้ารัฐบาลทำตามที่กฏหมายกำหนดไว้ป่านนี้ท้องถิ่นไทยไปไกลแล้ว บ้านเมืองจะพัฒนาไปมากกว่านี้แล้ว แต่การ “หวงอำนาจ” คืออุปสรรคใหญ่ของการกระจายอำนาจ แม้ในยุคที่ “นิพนธ์ บุญญามณี” ไปนั่งช่วยมหาดไทย และถือเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ จริงจังกับท้องถิ่น ยังถูกกีดกันไม่ให้กำกับดูแลกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเลย