ประจวบคีรีขันธ์-กรมทางหลวง เตรียมขยาย 4 ช่องจราจร สายบ้านหนองหิน-ด่านสิงขร เพื่อรองรับการเปิดด่านถาวร

ประจวบคีรีขันธ์-กรมทางหลวง เตรียมขยาย 4 ช่องจราจร สายบ้านหนองหิน-ด่านสิงขร เพื่อรองรับการเปิดด่านถาวร

ภาพ/ข่าว: เอกภพ วงษ์ประเสริฐ

              วันที่ 22 มี.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวง ได้จัดประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4373 สาย บ.หนองหิน-ด่านสิงขร การประชุมดังกล่าวมี นายน้ำเพชร กิ่มสร้าง รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงประจวบคีรีขันธ์ เดินทางมาเป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1) และมีนายทินกร แพทย์รักษ์ วิศวกรโยธาปฏิบัติการ กรมทางหลวง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการ มีนายสมชาย ปี่แก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองวาฬ พร้อมด้วยหน่วยงานราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องที่ต่างๆ และตัวแทนชาวบ้านที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ณ โรงแรมแอทที บูทีค อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา
              การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารของโครงการ ประกอบด้วย ความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ของการศึกษา ขอบเขตการศึกษา พื้นที่ศึกษา ขั้นตอนการศึกษา และแผนการดำเนินโครงการ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ได้แก่ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผู้ทำหน้าที่พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หน่วยงานราชการในระดับต่างๆ องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปให้ได้รับทราบข้อมูล ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนรวมไปถึงประชาชนในพื้นที่ อาทิ ชาวบ้านหมู่ 5 บ้านห้วยใหญ่ หมู่ 6 บ้านด่านสิงขร และหมู่ 9 บ้านหนองน้ำขาว ที่อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างขยายถนนจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ร่วมกันวิเคราะห์เหตุผลและความจำเป็น เพื่อนำไปวิเคราะห์แก้ไขปัญหานำไปสู่ผลการสรุปของโครงการซึ่งโครงการก่อสร้างขยายถนนทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4373 สายบ้านหนองหิน-ด่านสิงขร เป็นการรองรับการขยายตัวทางด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า การลงทุน ระหว่างไทยเมียน-มาร์ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาด้านเศรษฐกิจการค้าในพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้น กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วยบริษัท ออโรส จำกัด บริษัท สแปน จำกัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และบริษัท เวิลด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบและรับฟังความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะรูปแบบทางเลือกของโครงการที่เหมาะสมจากประชาชนในพื้นที่และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
            ในขั้นตอนของการศึกษานั้นจำเป็นจะต้องมีการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน การลงพื้นที่สำรวจเป็นการทำความเข้าใจต่อพื้นที่ พบปะ ทำความเข้าใจกับประชาชน และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นจะประกอบด้วยการประชุม สัมมนาโครงการ 3 ครั้ง และประชุมกลุ่มย่อย 2 ครั้ง ซึ่งมีลำดับดังนี้ 1) ประชุมสัมมนา ครั้งที่ 1 เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ 2) ประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 เพื่อนำเสนอรูปแบบทางเลือกของการพัฒนาโครงการ 3) ประชุมสัมมนาครั้งที่ 2 เพื่อคัดเลือกรูปแบบโครงการที่จะต้องนำไปออกแบบรายละเอียด 4) ประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบ 5) ประชุมสัมมนาครั้งที่ 3 เพื่อประชุมสรุปข้อมูลการพัฒนาโครงการ ซึ่งมีระยะเวลาในการศึกษาโครงการฯ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ไปจนถึงต้นปี 2567 และเนื่องจากพื้นที่ศึกษาตั้งอยู่ใกล้บริเวณด่านสิงขร ซึ่งเป็นโบราณสถาน แหล่งโบราณคดี ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่จะต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!