เชียงใหม่-ศูนย์ป้องกันอุทกภัยน้ำท่วม สรุปสถานการณ์ช่วงคืนที่ผ่านมา
ภาพ-ข่าว:นันธิกา กิจปาโล
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ป้องกันอุทกภัยน้ำท่วมขัง เทศบาลนครเชียงใหม่ สรุปสถานการณ์น้ำท่วมขังจากเหตุฝนตกหนักในช่วงค่ำคืนถึงรุ่งเช้าที่ผ่านมา พบมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการตามแผนป้องกันน้ำท่วม เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
ศูนย์ป้องกันอุทกภัยน้ำท่วมขัง เทศบาลนครเชียงใหม่ รายงานสถานการณน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ครั้งที่ 1 ตามแผนป้องกันอุทกภัยน้ำท่วมขัง เทศบาลนครเชียงใหม่ว่า เมื่อเวลา 02.00 น. ของเช้าที่ผ่านมา (24 ก.ย. 63) ได้รับทราบจากภาพผลการตรวจอากาศด้วยเรดาร์ (ลำพูน) ว่าพบกลุ่มฝนเคลื่อนตัวจากทิศตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ จึงได้แจ้งเจ้าที่ผู้ได้รับมอบหมายตามแผนป้องกันอุทกภัยน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมปฏิบัติงาน ตรวจเช็คความพร้อมของเครื่องสูบ พร้อมสำรวจประตูน้ำที่ได้เปิดผันน้ำจากทางทิศเหนือของเมืองลงแม่น้ำปิง และปิดประตูน้ำคลองชลประทานไม่ให้เข้าสู่คูเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 16.30 น. ของวันที่ 23 กันยายน 2563 แล้ว
โดยเมื่อเวลา 03.00 น. เจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายได้เข้าประจำสถานีสูบน้ำและประจำจุดเสี่ยงเฝ้าระวัง และได้ประสานไปยังชลประทานเชียงใหม่ ในการบูรณาการร่วมกันตามแผนป้องกันน้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ จนเวลาประมาณ 03.15 น. เริ่มมีฝนตกในเขตเทศบาลเป็นบริเวณกว้าง และมีปริมาณฝนตกหนักตั้งแต่เวลาประมาณ 03.45 น. จึงเริ่มทำการเปิดเครื่องสูบน้ำและสำรวจสถานีสูบทุกสถานี รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วออกตรวจพื้นที่จุดเสี่ยงต่างๆ ทั่วเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ และกำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติประจำทุกสถานี เฝ้าตักเก็บขยะ วัสดุตกค้าง ที่ไหลมาตกค้างติดตามสถานีสูบน้ำและรอบบริเวณจุดเสี่ยงด้วย
ทั้งนี้จากข้อมูลของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เชียงใหม่ พบว่าเหตุฝนตกหนักในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ในช่วงค่ำคืนถึงรุ่งเช้าที่ผ่านมานั้น สามารถวัดปริมาณน้ำฝนได้ 81.2 มิลลิเมตร และพบมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ตลาดประตูก้อม ศรีปิงเมือง ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่ไหลมาจากดอยสุเทพจากทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ เข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ ทางถนนสุเทพ นิมมานเหมินทร์ ศิริมังคลาจารย์ สวนดอก ลำคูไหล คลองแม่ข่าน้อย และคลองแม่ข่า และในพื้นที่ไนท์บาซา และถนนราชดำเนิน ก็พบน้ำท่วมขังเป็นบางส่วน เนื่องจากน้ำแม่ข่ามีปริมาณสูง จึงส่งผลกระทบต่อระบบการระบายน้ำในเขตเมืองชั้นในที่อาศัยลำเหมืองสาธารณะและคลองแม่ข่า