สุพรรณบุรี-เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนแห่งแรก
ภาพ-ข่าว:มงคล/รัตนา สว่างศรี
สภ.เมืองสุพรรณบุรี เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ประจำสถานีตำรวจภูธรเมืองสุพรรณบุรี แห่งแรกของจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในระดับพื้นที่ ทั้งในคดีอาญาและคดีแพ่ง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ โดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล
ที่ สถานีตำรวจภูธรเมืองสุพรรณบุรี นายธีรยุทธิ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ประจำสถานีตำรวจภูธรเมืองสุพรรณบุรี โดยมี นายสันติ ชูเชิด ประธานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนกล่าวรายงาน พร้อมด้วยน.ส.พรชนก กาญจนรัตน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดสำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ รักษาราชการในตำแหน่ง อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสุพรรณบุรี น.ส.สมิหรา เดชะอังกูร ผอ.สนง.กกต.สุพรรณบุรี พ.ต.อ.เฉลิมวุฒิ วงษ์เวียงจันทร์ รอง ผบก.จ.สุพรรณบุรี น.ส.ลดาวัลย์ โรจนพานิช ยุติธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรม จ.สุพรรณบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสุพรรณบุรี เข้าร่วมพิธี ก่อนจะเข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ที่ชั้น 1 อาคารสถานีตำรวจภูธรเมืองสุพรรณบุรี
นายธีรยุทธิ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้บูรณาการร่วมกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนประจำสถานีตำรวจภูธรทั่วประเทศ ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีความผิดอันยอมความได้ โดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล หากตกลงกันได้บันทึกข้อตกลงนี้สามารถบังคับได้ตามกฎหมายและด้วยความสมัครใจคู่กรณี ตามระเบียบกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติ ฝ่ายที่เสียหายสามารถยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อออกคำบังคับให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงที่ทำร่วมกันไว้ได้
ซึ่งภายในศูนย์ฯ จะมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นคณะทำงานบริหารประจำศูนย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักสูตรที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติรับรอง โดยการไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นสอบสวนนั้น เมื่อมีคดีอาญาเกิดขึ้น คู่กรณีสามารถไกล่เกลี่ยในชั้นสอบสวนได้ ซึ่งจะต้องต้องความผิดคดีอาญาใน 3 กลุ่ม คือ 1.ความผิดอันยอมความได้ 2.ความผิดลหุโทษ ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท 3.ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี ตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ย พ.ศ.2562 ซึ่งการดำเนินการของศูนย์ฯ นี้จะช่วยให้จำนวนคดีที่จะมีการฟ้องร้องกันขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง