ประจวบคีรีขันธ์-ผู้สูงอายุกลุ่มพัฒนาสตรีบ้านหนองบัวฝึกอบรมอาชีพการทำเปลญวน
ภาพ/ข่าว: เอกภพ วงษ์ประเสริฐ
ที่ศาลากลางหมู่บ้านหนองบัว ม.4 ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีชาวบ้านที่เป็นผู้สูงอายุกว่า30 คน มาเข้ารับการอบรมสร้างอาชีพการทำเปลญวนเพื่อนำไปใช้เองและสร้างรายจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวพักผ่อนในพื้นที่ที่เป็นที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่กำลังได้รับความนิยม การฝึกอบรมมีกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สนับสนุนงบประงาน มี น.ส.วลัยลักษณ์ มูลมีรัตน์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนปราณบุรี ดร.สิริกร หน่อทิม ปธ.กลุ่มพัฒนาสตรีบ้านหนองบัวให้การประสานงาน โดยเชิญปราชญ์ชาวบ้านที่มีความชำนาญด้านการทำเปลญวนมาให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ
การถักเปลเป็นงานฝีมือที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ในอดีตเปลนอนสำหรับเด็ก ทำขึ้นมาจากฝีมือการถักเชือกของคุณแม่ทั้งหลายที่เตรียมถักเปลกันตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ไม่ต้องไปหาซื้อจากที่ไหน และด้วยยุคสมัย ที่เปลี่ยนไปคุณแม่ยุคใหม่ ต้องทำงานนอกบ้านไม่มีเวลา ทำให้เปลเชือกถักที่เคยใช้ในอดีตไม่มีให้เห็นกันเท่าใดในปัจจุบัน ด้วยคุณสมบัติที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ช่วยให้เด็กได้นอนหลับอย่างสบายแล้ว ยังมีความสวยงามอีกด้วย ด้วยเพราะเป็นงานฝีมือการทำเปลแต่ละผืนจึงต้องใช้เวลานาน จึงแทบจะไม่มีผู้ที่ทำการถักเปลให้เห็นกันแล้ว
ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการถักเปล คือ เชือกไนล่อนเส้นเล็กขนาดพอเหมาะ โต๊ะไม้ในการขึ้นรูปทำหูเปลที่จะใช้ในการผูก หรือ แขวนยึดเปลไว้กับเสา สำหรับนายสมใจ เรณู ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี แต่ย้ายมาทำงานรับจ้างที่อำเภอหัวหิน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ที่มีอาชีพทำนาพอว่างจากการทำนาก็จะช่วยกันทำเปลญวนไว้ขายเป็นอาชีพหลักอีกอาชีพหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันจะใช้เวลาว่างถักเปลญวนเก็บไว้ขายให้กับชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเป็นรายเสริมและรับเป็นวิทยากรสอนการถักเปลญวนอีกด้วย
ดร.สิริกร หน่อทิม ปธ.กลุ่มพัฒนาสตรีบ้านหนองบัว กล่าวว่า วันนี้ได้จัดกิจกรรมทำฝึกอาชีพการทำเปลถักได้รวมกลุ่มของกลุ่มสตรีทั้งหมด 30 คน ก็มีการฝึกอบรม เริ่มตั้งแต่การขึ้นโครงเปล ทำเปลทั้งหมด เพื่อที่จะนำไปส่งเสริมอาชีพก็อาจจะมีการเอาไปให้เพื่อการพักผ่อนแล้วก็ทำขายในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มในบ้านของเรา กลุ่มที่มาทำการอบรมครั้งนี้ก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวบ้าน ทุกคนก็ตั้งใจทำงานเต็มที่ ในอนาคตข้างหน้าก็คาดว่ากลุ่มสตรีของเราก็สามารถเอาวิชาความรู้ที่ได้ในครั้งนี้เอาไปต่อยอดทำเปลถักเพื่อไปสร้างอาชีพได้
น.ส.วลัยลักษณ์ มูลมีรัตน์ นักวิชาการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สนับสนุนโครงการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพสตรีด้านการประกอบอาชีพบ้านหนองบัว ซึ่งเราจะทำกิจกรรมเรื่องของการถักเปลญวน วัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมของโครงการนี้ก็คือว่า 1.ส่งเสริมการรวมกลุ่มการมีส่วนร่วมของสตรี 2.ส่งเสริมการฝึกอาชีพการทำเปลเพื่อให้มีทักษะมีฝีมือเพิ่มมากขึ้นเพื่อที่จะต่อยอดเป็นการสร้างรายได้หรือลดรายจ่ายในครัวเรือน ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการทำกิจกรรมนี้ก็คือสตรีบ้านหนองบัวสามารถฝึกการทำเปลญวนเป็น เกิดการลดรายจ่ายหรือการเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนเพื่อต่อยอดเป็นอาชีพ เมื่อเกิดกิจกรรมร่วมกันเกิดการรวมกลุ่มสตรีก็ส่งเสริมให้สตรีมีความเข้มแข็งมีการความสามัคคีร่วมมือร่วมใจและเกื้อกูลกันในวิทยากรที่มาสอนทำเปลเป็นวิทยากรมาจากกลุ่มสัมมาชีพบ้านวังก์พง ซึ่งเป็นกลุ่มสัมมาชีพที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอปราณบุรี มาเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการทำเปลมานานพอสมควรแล้วก็มีการทำจำหน่าย เป็นบริบทพื้นที่ของบ้านหนองบัวที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนก็เลยอาจเป็นการต่อยอดส่งเสริมสนับสนุนชุมชนอีกทางหนึ่ง ในอนาคตข้างหน้าก็มุ่งหวังให้สตรีของเราที่มีทักษะมีฝีมือในเรื่องของการทำเปลก็อยากจะต่อยอดสนับสนุนให้เขาสามารถสร้างเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ปราชญ์ชาวบ้าน เปลเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว ที่มา เที่ยวทั้งชาวไทยแล้วก็ชาวต่างชาติก็คิดว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนอีกชิ้นหนึ่งที่น่าจะสร้างรายได้ให้ชุมชน
นางสาวจินตนา เย็นใส ชาวบ้าน กล่าวว่า ปกติรับจ้างทั่วไปแล้วก็ทำงานไม่ไหวทีนี้มีการฝึกอบรมก็ได้มาฝึกอบรม การมาอบรมดีและมีความรู้ไปพัฒนาตัวเอง ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้เราก็จะยิ่งหารายได้เสริม อย่างเช่นตอนเย็นๆเราไม่มีอะไรทำเลิกจากงานมาก็มานั่งทำได้ สามารถใช้เองได้แล้วก็ทำจำหน่ายได้ โครงการนี้ดีเพิ่มรายได้ให้กับเราและครอบครัว ราคาก็ไม่แพง วัสดุก็ยังพอหาได้แล้วถ้าเกิดเศษผ้าเราไม่มีหาซื้อเชือกยากเราสามารถใช้เชือกหรือว่าเศษผ้าจากเหลือใช้เอาต่อกันได้