อยุธยา-ชาวบ้านโวยเจ้าท่าสร้างเขื่อนกันดินพังสูงเกินไปสกัดวิถีชิวิตริมน้ำ
ภาพ-ข่าว:นราเอก ตันศิริ / นพดล บำเพ็ญสัตย์
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ที่ศาลาการเปรียญวัดป่าโค อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าที่ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ พ.อ.อ.สุวัฒน์ สรรพโกศลกุล รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา นายกฤษณ์ เถี่ยนมิตรภาพ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยชาวบ้าน ริมแม่น้ำป่าสัก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นในการก่อสร้างเขื่อน ป้องกันตลิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางเรือเดินในแม่น้ำป่าสัก หลังมีการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งสูงจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน โดยเขื่อนป้องกันดินดังกล่าวใช้งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างโดย กรมเจ้าท่า และกระทรวงคมนาคม
โดยการประชาพิจารณ์ มีนายวิเชียร เปมานุกรรักษ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปฏิบัติการ นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า มาร่วมประชุมในครั้งนี้ ซึ่งในการประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาชาวบ้านคัดค้านไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการก่อสร้างของเขื่อน โดยใช้แผ่นชีทไพล์ (Sheet Pile Wall) ตอกลงไปตามแนวริมตลิ่งและมีการก่อสร้างแนวสันเขื่อน น้ำสูงจากพื้นดินปัจจุบันประมาณ 3 เมตร ซึ่งรูปของการก่อสร้างส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตชาวบ้าน และบดบังทัศนียภาพ ริมแม่น้ำป่าสัก อีกทั้งทางขึ้นลงตลิ่งมีน้อย จากชาวบ้านจะจอดเรือไว้ท่าน้ำหน้าบ้าน หรือลงไปใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค หรือลงไปจับสัตว์น้ำก็ไม่สะดวก การก่อสร้างเขื่อนในรูปแบบนี้จะเป็นการอำนวยความสะดวก ให้กับการเดินเรือบรรทุกสินค้ามากกว่า ชาวบ้านอยากให้เขื่อนเป็นรูปแบบของตอกเข็มด้วยปูน หรือเป็นแนวทางลาดปูน ให้ชาวบ้านได้ใช้วิถีชีวิตแบบดังเดิมได้
นายกฤษณ์ เถี่ยนมิตรภาพ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ทางว่าที่ ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ได้ประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนของ กรมเจ้าท่า และกระทรวงคมนาคม ซึ่งที่ผ่านการออก แบบไม่ได้การทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อน บางส่วนได้มีการก่อสร้างไปแล้ว และไม่ได้แจ้งให้ทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาทราบเรื่องและรูปแบบของแนวเขื่อน หลังจากชาวบ้านเห็นรูปแบบการก่อสร้างกลับส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวัน ที่ยังต้องใช้อาศัยแม่น้ำป่าสัก ตนจึงได้ให้มีการมาทำความเข้าใจรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านดีใจและยินดีเป็นอย่างมากที่จะได้มีเขื่อนป้องกันตลิ่งทรุดตัว ป้องกันน้ำท่วม แต่จากรูปแบบของเขื่อนที่ใช้ แผ่นชีทไพล์ ซึ่งเป็นแผ่นเหล็กตอกลงไปตลอดแนวของตลิ่งที่ทำเป็นเขื่อน
ชาวบ้านส่วนใหญ่เกรงว่าในอนาคตจะเป็นสนิมไม่มีความมั่นคง บดบังทัศนียภาพริมฝั่งแม่น้ำและการขึ้นลงจากบ้านของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำ ที่บางส่วนยังคงประกอบอาชีพประมงและต้องใช้น้ำในแม่น้ำดังกล่าวในการอุปโภค ซึ่งในพื้นที่ของอำเภอนครหลวง ได้ก่อสร้างเขื่อนในรูปแบบดังกล่าวเสร็จแล้วและทรุดตัวไปแล้ว จึงอยากให้ทางกรมเจ้าท่าทบทวนและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา “ไม่คัดค้าน” การสร้างเขื่อนแต่อยากให้ปรับรูปแบบเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ซึ่งด้านตัวแทนของเจ้าท่า และวิศวกร รับที่จะไปแก้ไขแบบ ซึ่งหากชาวบ้านยังไม่พอใจจะยกเลิกไปทำที่อื่น
สำหรับเขื่อนดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในการก่อสร้างทำให้วิถีชีวิตของคนริมน้ำเสียหายอย่างมาก ไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนเดิม อีกทั้งชาวบ้านเชื่อว่าไม่ได้เป็นการสร้างเพื่อป้องกันดินพังปกติ แต่เป็นการสร้างป้องกันตลิ่งพัง จากที่จะมีการเพิ่มขนาดของเรือบรรทุกสินค้า โดยไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตคนอยุธยา ซึ่งหลายจุดที่มีการก่อสร้างทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก