ประจวบคีรีขันธ์-รองเลขาฯ สปสช. เยี่ยมผู้ป่วย รพ.ประจวบฯใช้สิทธิบัตรทองผ่าตัดสมอง-ผ่าตัดข้อสะโพก
ภาพ-ข่าว:พิสิษฐ์ รื่นเกษม
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2566 นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 5 ราชบุรี ลงพื้นที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเยี่ยมชมนวัตกรรมผ่าตัดสมองและผ่าตัดข้อสะโพก ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยบัตรทอง โดยมี นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ นพ.อภิวัฒน์ บัณฑิตชาติ รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ นายอุดมศักดิ์ แสงวณิช รอง ผอ.ฝ่ายบริหาร และคณะเจ้าหน้าที่ รพ.ประจวบฯให้การต้อนรับ และสรุปภาพรวมของโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา
นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาฯ สปสช. กล่าวว่า อาการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดสมองและผ่าตัดข้อสะโพก เป็นหนึ่งในโรคที่ประชาชนมักกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะต้องใช้เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญอย่างมาก ทำให้ต้นทุนการรักษาสูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ เป็นอีกหนึ่งในโรงพยาบาล ที่ให้บริการประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิบัตรทองอย่างเต็มที่ และทำการผ่าตัดสมอง ตลอดจนผ่าตัดข้อสะโพกแก่ผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ได้เข้าถึงการรักษา และไม่ต้องเดินทางมายังส่วนกลาง อีกทั้งประหยัดค่าเดินทาง และไม่ต้องกังวลค่ารักษา แม้จะเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงก็ตาม
ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.ประจวบฯ กล่าวว่า โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 278 เตียง มีผู้ป่วยใน เฉลี่ยประมาณ 250 คนต่อวัน และมีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 89.34% ของจำนวนเตียงทั้งหมด ขณะที่ในส่วนของผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดจากแผนกศัลยกรรมระบบประสาท ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2564 ถึงปี 2566 มีจำนวนรวม 569 เคส ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าเทียม จากแผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ รวม 258 เคส นอกจาก 2 แผนกนี้แล้ว ยังมีแผนกจักษุที่ทำการผ่าตัดตาต้อกระจก ซึ่งเป็นโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยใน มากเป็นอันดับหนึ่ง โดยในช่วง 3 ปีนี้ ได้ทำการผ่าตัดไปแล้วกว่า 1,948 เคส
ผอ.รพ.ประจวบฯ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่สะท้อนจากตัวเลขเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนสิทธิบัตรทอง เข้าถึงบริการการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว ประเด็นสำคัญที่สุด คือการทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความหวังกับชีวิต สามารถประกอบอาชีพ สร้างรายได้แก่ครอบครัวโดยไม่ต้องทนทุกข์จากอาการเจ็บป่วยอีกต่อไป
ด้าน นพ.สนธิเดช ว่องวุฒิกำจร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษประสาทศัลยศาสตร์(สมอง) รพ.ประจวบฯ กล่าวว่า เดิมเมื่อก่อนโรงพยาบาลไม่มีแพทย์เฉพาะทาง หากผู้ป่วยที่มารักษาด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และเกินศักยภาพในการรักษา ต้องใช้ระบบส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดราชบุรี หรือ จ.สมุทรสาคร ปัจจุบันคนไข้ส่วนหนึ่งที่มีปัญหาจากอุบัติเหตุเลือดคั่งในสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดในสมองแตก เนื้องอกในสมองที่ไม่ซับซ้อน ทาง รพ.ประจวบฯสามารถมารับการรักษาที่รพ.ประจวบฯได้แล้ว โดยใช้ระยะเวลาการผ่าตัดแบบครบวงจรไม่เกิน 4 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดด้านสมองเฉลี่ย 30 คนต่อเดือน แบ่งเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน(นอกเวลา) 20 คน ผู้ป่วยในเวลา 10 คน โดยผู้ป่วยใช้สิทธิบัตรทอง จะไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ทางผู้สื่อข่าวได้สอบถามญาติผู้ป่วย ภายหลังจากใช้สิทธิบัตรทองในการผ่าตัดสมอง และกำลังพักฟื้นภายหลังผ่าตัดอยู่ใน รพ.ประจวบฯ โดยนางสุรินทร์ บุตรดี ชาวบ้านหนองขาม อ.เมืองประจวบฯ มารดาของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสมอง กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณทางโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ และ สปสช. หน่วยงานที่ดูแลสิทธิบัตรทอง ซึ่งที่ผ่านมาได้ดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี โดยตอนนี้ยังต้องพักฟื้น ในโรงพยาบาล ซึ่งหากต้องจ่ายค่ารักษาเอง คงไม่มีเงินมาจ่ายค่ารักษา เพราะค่าผ่าตัดในครั้งนี้อยู่ระหว่าง 150,000 – 200,000 บาท
ทั้งนี้ นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. ยังได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดข้อสะโพก และผ่าตัดสมอง ได้แก่ นางณัฏฐ์ฐิพันธุ์ พิมพันธุ์ดี อายุ 71 ปี ที่บ้านเลขที่ 118/16 ถ.สุขสมบูรณ์ ต.ประจวบคีรีขันธ์ อ.เมืองประจวบฯ อดีตแม่บ้าน รพ.ประจวบฯ ที่ป่วยอาการกระดูกต้นขาข้างขวาหัก จากการขับรถพ่วงข้าง(ซาเล้ง)ล้มเอง ไม่สลบ จำเหตุการณ์ได้ ปวดสะโพก ลุกเดินไม่ไหว จนต่อมาได้โทรเรียกสายด่วนกู้ชีพ 1669 เพื่อรีบนำส่ง รพ.ประจวบฯ
ต่อมา เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2566 ที่ผ่านมา แพทย์ทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้านขวา หลังผ่าตัดได้รับการดูแลต่อเนื่อง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ปัจจุบันอยู่ระหว่างรับการฟื้นฟูทำกายภาพบำบัด ฝึกการเดินโดยใช้อุปกรณ์ กระตุ้น รวมทั้งฝึกให้ผู้ป่วยบริหารกล้ามเนื้อขา เกร็งกล้ามเนื้อต้นขา กระดูกข้อเท้าลุกนั่ง นอกจากนี้มีการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดดำ แนะนำการดูแลบาดแผลและการสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ แนะนำเรื่องการป้องกันข้อสะโพกเทียมหลุด ขณะนี้กลับมาเดินได้เกือบปกติแล้ว
สำหรับผู้ป่วยรายต่อมา เป็นชายไทยอายุ 47 ปี อดีตช่างตัดผม อาศัยกับครอบครัวที่ บ้านนิคม กม. 5 ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบฯ มีภาวะเลือดออกในโพรงสมอง ระหว่างเดือน ก.พ.-มี.ค.2556 แพทย์ทำการรักษาโดยการใส่สายระบายน้ำไขสันหลังในโพรงสมอง และผ่าตัดเปิดกะโหลกเพื่อนำก้อนเลือดออก และออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2566 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟู และให้ผู้ดูแลทำการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน