ประจวบคีรีขันธ์-มะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออกประสบวิกฤตภัยแล้งยืนต้นตายเสียหายนับล้านบาท
ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ
วันที่ 31 พฤษภาคม 66 นายพนม ซำเผือก ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงแปลงใหญ่เพื่อการส่งออก ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองกว่า 1700 ไร่ที่ ต.อ่าวน้อย ซึ่งมีการรวมกลุ่มเพื่อส่งผลผลิตเกรด เอ.ไปจำหน่ายในประเทศเกาหลีใต้และอีกหลายประเทศคู่ค้าได้รับผลกระทบ เนื่องจากปีนี้ชาวสวนประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงในรอบหลายสิบปี มีฝนทิ้งช่วงนานกว่า 4 เดือนประกอบกับมีอากาศร้อนอบอ้าวต่อเนื่อง ทำให้ต้นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองอายุมากกว่า 8 ปี ยืนต้นตายจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมหลายล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมามะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ที่มีการทำผลิตให้ออกขายนอกฤดูกาลจะมีราคาส่งออกที่กิโลกรัมละมากกว่า 100 บาท หากชาวสวนจะฟื้นฟูให้กลับมามีผลผลิตเพื่อส่งออกตามปกติ จะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4 ปี โดยที่ไม่มีวิกฤตภัยแล้งเข้ามาซ้ำเติมทำให้เกิดความเสียหายเพิ่ม
นายพนม กล่าวว่า หลังจากต้นมะม่วงยืนต้นตายใต้จากฝนทิ้งช่วงในรอบหลายสิบปีเกษตรกรส่วนใหญ่ไมได้หวังว่าการเยียวยาความเสียหายของทางราชการจะมีความคุ้มค่าเพื่อใช้เป็นต้นทุนในการปลูกใหม่ทดแทน เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการวางหลักเกณฑ์ว่าการช่วยเหลือจะต้องมีการสำรวจเพื่อพิจาณาว่าต้นมะม่วงยืนต้นตาย บนต้นต้องไม่มีใบสีเขียว หากมีเจ้าหน้าที่สำรวจถือว่าต้นมะม่วงยังไม่ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง ทำให้ชาวสวนแต่ละรายได้การเยียวยาไม่มาก ส่วนใหญ่จึงตัดโค่นเพื่อส่งขายเป็นไม้ฟืน เพื่อนำรายได้มาใช้เป็นทุนในการฟื้นฟูสวนมะม่วงในระยะต่อไป และชาวสวนบางรายไม่ได้แจ้งให้ทางราชการไปสำรวจ แต่ยึดหลักพึ่งพาตนเองแม้ว่าการฟื้นฟูต้นมะม่วงที่เสียหายบางส่วนจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี
มีรายงานว่า สำหรับพื้นที่ ต.อ่าวน้อย นอกจากมีมะม่วงส่งออกมีผลกระทบยืนต้นตาย ยังพบว่ายังมีสวนขนุน สวนมะพร้าวได้รับความเสียหาย เช่นเดียวกับไร่สับปะรดพืชเศรษฐกิจสำคัญมีผลกระทบจากภัยแล้งอย่างรุนแรง
นายเมธา ศักดิ์เกิด ปลัด อบต.อ่าวน้อย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการสำรวจความเสียหายของพืชสวนและพืชไร่ เพื่อนำข้อมูลเข้าที่คณะกรรมการช่วยเหลือก่อนมีการเยียวยาผลกระทบ ซึ่งยอมรับว่าวิกฤตภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือนมีความรุนแรงในรอบหลายสิบปี แต่สำหรับพื้นที่ที่มีน้ำประปาชาวสวนบางรายยอมแบกต้นทุนเพื่อไม่ให้ภัยแล้งกระทบกับการขายผลผลิตในระยะสั้น