อุบลราชธานี-ม.อุบลฯ ร่วมกับ บพท. ยกระดับงานวิจัยเชิงพื้นที่

อุบลราชธานี-ม.อุบลฯ ร่วมกับ บพท. ยกระดับงานวิจัยเชิงพื้นที่

ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดอุบลราชธานี

            มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี พร้อมคณะผู้บริหาร และทีมนักวิจัย ให้การต้อนรับ ศาสตรา จารย์ ดร.วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และคณะ ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการวิจัยและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการยกระดับพันธกิจที่ 4 การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมผ่านงานวิจัย การดำเนินงานโครงการ “การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากและศักยภาพในการแข่งขันสำหรับชุมชนทุนทางวัฒนธรรม อำเภอเขมราฐ และอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี” โครงการวิจัยปีงบประมาณ 2566 การจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่น กลุ่มโครงการต่อยอด (Advance Track) ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมบุณฑริก ชั้น 2 สำนักงานอธิการบดี เมื่อวันจันทร์ ที่ 19 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
             จากความสำเร็จของการดำเนินงานวิจัยเชิงพื้นที่ ฟื้นใจเมือง 2559–2565 โครงการการจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ภายใต้กรอบการวิจัยมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ จึงนำมาสู่การดำเนิน โครงการการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากและศักยภาพในการแข่งขันสำหรับชุมชนทุนทางวัฒนธรรม อ.เขมราฐ และ อ.นาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ปีงบประมาณ 2566 ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ขับเคลื่อนโดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
            รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า การดำเนินงานวิจัยโครงการ “การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากและศักยภาพในการแข่งขันสำหรับชุมชนทุนทางวัฒนธรรม อำเภอเขมราฐ และอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี” ปีงบประมาณ 2566 แบ่งกลุ่มกิจกรรมและทีมผู้วิจัยเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มข้อมูลและแผนที่วัฒนธรรมและพัฒนาชุมชนทางทุนวัฒนธรรม 2.กลุ่มวิสาหกิจวัฒนธรรม ทำหน้าที่ในการพัฒนาผู้ประกอบการ สินค้า/บริการ ศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ 3.กลุ่มภาคีเครือข่ายกับภาคส่วนต่าง ๆ และประสานงานกลาง และ 4.กลุ่มอุทยานวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ทำหน้าที่ในการรวบรวมและลงพื้นที่กิจกรรม/เทศกาล/การรับรู้/แลกเปลี่ยน/ตลาด-ถนนคนเดิน ซึ่งการดำเนินงานในช่วง 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2566)
           สร้างความร่วมมือกับภาคีวิจัยในพื้นที่ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลทุนทางวัฒนธรรม การเรียนรู้และพัฒนาข้อมูลทุนวัฒนธรรมในรูปแบบแผนที่วัฒนธรรม & metaverse การเก็บข้อมูลผู้ประกอบการและวิสาหกิจทุนทางวัฒนธรรม การวางแผนพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจและชุมชนทุนวัฒนธรรม การพัฒนาชุมชนและวิสาหกิจทุนวัฒนธรรม เช่น แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนและวิสาหกิจทุนวัฒนธรรม อ.นาตาล บูรณาการเข้ากับงานบุญเดือน 3 (สมโภชน์พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ) และการรวบรวมข้อมูลสถานดูแลสุขภาพผู้สูงอายุใน จ.อุบลฯ สำหรับศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ณ อ.นาตาล หรือ อ.เขมราฐ ต่อไป
           นับเป็นต้นแบบของการดำเนินงานวิจัยเชิงพื้นที่ ที่ตอบโจทย์นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ เศรษฐกิจสร้างคุณค่าให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต และพันธกิจของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งนี้ งานวิจัยฯ สามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาชุมชนทางวัฒนธรรม การขับเคลื่อนวิสาหกิจวัฒนธรรม และพัฒนาอุทยานวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ตลอดจนการสร้างภาคีเครือข่ายการทำงานระหว่างนักวิจัย ทั้งหน่วยภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนอีกด้วย

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!