“ประชาธิปัตย์”ได้เวลาถอย เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า
ภาพ-ข่าว:นายหัวไทร
สัจจัง เว อัมตะ วาจา วาจาจริงเป็นสิ่งไม่ตาย เชาร์ มีขวด อดีตรองโฆษกรัฐบาล ได้หยิบยกเอาคำขวัญของพรรคประชาธิปัตย์มาสะท้อนการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านจากยุคตกต่ำที่สุดที่คณะกรรมการบริหารพรรค คนของพรรคจะต้องรักษาคำพูด รับผิดชอบต่อคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน “เชาว์ ” ลั่น ถึงเวลา ถอย เพื่อถอดบทเรียน ปชป. แฉ กลุ่มอำนาจเก่า ล็อกสเปก “หน.พรรค-กก.บห.ชุดใหม่” ที่จะเลือก 9 ก.ค.นี้ ตั้งเป้าร่วมรัฐบาล วอน สมาชิกร่วมปฏิรูปครั้งใหญ่
เชาว์ ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุก เป็นเครื่องสะกิดเตือนในชาวประชาธิปัตย์ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งเรื่อง ถึงชาวพรรคประชาธิปัตย์ ได้เวลาถอยเพื่อถอดบทเรียน มีเนื้อหาระบุว่า ตนเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ในฐานะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางวิกฤติความตกต่ำของพรรคอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน กระทั่งการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาพรรคได้ ส.ส.มาเพียง 25 คน จนนำไปสู่การ แสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งด้วยการลาออก จากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค ต้องพ้นตำแหน่งไปโดยปริยายด้วย ผมเชื่อว่าหลายคน ทั้งที่เป็นสมาชิกพรรคและไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค คงจับตาดูว่า ก้าวต่อไปของประชาธิปัตย์จะเดินไปทิศทางไหน เพราะ 78 ปี บนเส้นทางการเมือง และการต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมรสุมมาหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่รุนแรงเท่านี้ เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ความตกต่ำของพรรคที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องถูกดิสรัปจากการสื่อสารสมัยใหม่ ที่ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองเท่านั้น อุดมการณ์การเมือง ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งที่สุดของพรรคก็ถูกตั้งคำถามอย่างมาก นับจากที่ประชุมพรรคตัดสินใจมีมติร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สวนทางกับคำมั่นที่อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ไว้กับประชาชน จนท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจาก ส.ส.เพื่อรักษาจุดยืนทางการเมือง
ผมยังจำคำพูดวันนั้นของท่านอภิสิทธิ์ได้ดี ท่านบอกว่า “ยิ่งใหญ่กว่ามติพรรค คือ สัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ” ท่านบอกด้วยว่า ในวันนั้นท่านเหลือทางเดียวที่จะรักษาเกียรติภูมิไม่เฉพาะตัวเอง แต่เป็นเกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญว่า สจฺ จํ เว อมตา วาจา ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบกับคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน
อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุต่อไปว่า ที่เท้าความไปไกล เพื่อตอกย้ำว่า ถึงเวลาที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพรรค เราไม่เหมือนพรรคเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาแล้วก็ดับสูญไปตามตัวบุคคล แต่ประชาธิปัตย์ เป็นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา เป็นที่พักพิงให้ประชาชนมาเนิ่นนาน เราจะกลับไปอยู่ในจุดที่ประชาชนศรัทธาไว้วางใจอีกครั้งได้อย่างไร ในสถานการณ์ ที่เรากำลังขาดบุคลากรที่โดดเด่น บวกกับสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไป จำเป็นต้องเฟ้นหาผู้นำทางที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ที่สำคัญต้องมากบารมี บททดสอบนี้จึงไม่ใช่แค่ ส.ส.เท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของพรรค ซึ่งผมทราบมาว่า วันที่ 21 มิถุนายนนี้ กรรมการบริหารพรรคจะมีประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งผู้บริหารชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 9 กรกฎาคม 2566
“น่าแปลกใจที่ทั้งพรรคเต็มไปด้วยความเงียบงัน ไม่มีการเปิดตัวผู้อาสามาเป็นหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคคนใหม่ ไม่มีการรณรงค์หาเสียงเหมือนอดีตที่ผ่านมาที่เราเคยเป็นต้นแบบระบบประชาธิปไตยภายในพรรค มีการแข่งขันกันอย่างเสรีเหมือนทุกครั้ง แต่กลับมีกระแสเล็ดลอดซุบซิบในในวงแคบ ๆ ว่า มีการ ล็อกสเปก บุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ไว้แล้ว โดยกลุ่มอดีตผู้บริหารที่กุมเสียงว่าที่ ส.ส.ชุดปัจจุบันได้กว่า 17 คน ซึ่งตามข้อบังคับพรรคจะให้น้ำหนักโหวต ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเป้าต้องการที่จะร่วมรัฐบาล ตนทราบมาว่าหลายคนอึดอัดกับท่าที ที่กำลังเป็นอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ เพราะทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเสมือนการปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ เป็นการถอยเพื่อถอดบทเรียน รับฟังเสียงจากสมาชิกส่วนใหญ่ให้มีส่วนร่วมด้วย ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่ควรกระทำ เพราะถ้าหวังร่วมรัฐบาลเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจรักษาจุดยืนของพรรค การเลือกตั้งครั้งต่อไปเราอาจจะไม่มีที่ยืนในสภาแม้แต่ที่เดียว” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย
อุดมการณ์ 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคสมัยนายควง อภัยวงศ์ เมื่อ 78 ปีทีีผ่านมา ชาวประชาธิปัตย์ต้องหยิบขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรอง โดยเฉพาะ 3 ข้อสำคัญ ต่อต้านเผด็จการ ไม่ทุจริตคอรัปชั่น และกระจายอำนาจ การตัดสินใจโดยมติพรรคนำประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมถอยของประชาธิปัตย์หรือไม่ สังคมภายนอกมองว่า “กอดขาเผด็จการ ร่วมรัฐบาล” โดยลืมวาจา ลืมคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน ถ้าชาวประชาธิปัตย์ยอมรับความจริง สิ่งที่เชาร์นำเสนอมานั่นคือความจริง ถ้าชาวประชาธิปัตย์หวังจะนำพาพรรคให้ฟื้นกลับคืนมาเฟื้องฟูอีกครั้ง จะต้องนั่งลงตรึกตรอง สุมหัวคิดถอดบทเรียนจากอดีตที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกร่วมกันภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ไม่ใช่สุมหัวคิด ล็อคสเปกผู้นำพรรคที่กระสันต์อย่างเป็นรัฐบาล โดยไม่ใส่ใจต่อสภาพของพรรค และอนาคตของพรรค
เชื่อว่า ถ้าประชาธิปัตย์ยังเดินไปภายใต้การกุมบังเหียนของคนบางกลุ่มจากขั้วอำนาจเก่า ล็อคสเปกผู้นำพรรคตามที่เชาร์ให้ข้อมูลมา ยิ่งจะทำให้ประชาธิปัตย์ตกต่ำลงไปอีก และการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะเป็นพรรคต่ำสิบ และอนาคตจะไม่มีที่ยืน ไม่แตกต่างจากพรรคกิจสังคม พรรคความหวังใหม่ ที่เคยยิ่งใหญ่ แต่ถึงเวลาก็ดับสลายไป แต่ความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาธิปัตย์ที่สืบทอดเจตนารมณ์-อุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งพรรคมายาวนาน 78 ปี สภาพเช่นนั้นไม่ควรเกิดขึ้น เพียงแต่ชาวประชาธิปัตย์กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาประกาศจุดยืน แนวทางของพรรค และกล้าพอที่จะปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่หรือไม่ในสถานการณ์ที่ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป
วันนี้ประชาธิปัตย์ขาดบุคลากรที่ทรงคุณภาพที่จะเข้ามานำพาพรรค ถามว่าตำแหน่งหัวหน้าว่างมาเดือนกว่า จนถึงวันนี้มีใครกล้าลุกขึ้นมาประกาศตัวลงชิงหัวหน้าพรรคสักคนไหม ยังไม่เห็นมี มีแต่ข่าวลือว่า น่าจะเป็นคนนั้นคนนี้ลงชิง แต่ข้อเท็จจริง คือไม่มีใครเปิดตัวออกมาเลยแม้แต่คนเดียว เงียบสนิทอย่างที่เชาร์ว่าจริงๆ เหลือเวลาไม่ถึงเดือนจะเลือกหัวหน้าพรรคแล้ว ถ้าเป็นสมัยก่อนประชาธิปไตยจะเบ่งบานสพลั่งเต็มหัวใจชาวประชาธิปัตย์ เดินสายพบปะ แสดงวิสัยทัศน์กับบรรดาโหวตเตอร์กับครึกโครม
สถานการณ์ที่เงียบงันของประชาธิปัตย์ ดูวิเวกวังเวงวิโหวเหวเหลือเกิน เศร้าสร้อย หดหู่ใจ เจ้าหน้าที่พรรคยังซุบซิบกันเลยว่า ถ้าคนนี้ลงสมัครเป็นฉัน ฉันก็ไม่เลือก และถ้าเขามาเราจะอยู่กันอย่างไร ร้องไห้เถิด ถ้าจะร้องเพื่อจะลุก ถอยเถอะ ถ้าจะถอยเพื่อทบทวน และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างหาญกล้าและท้าทาย ถอยมาดับเครื่อง เช็คเครื่อง สตาร์ท เดินรถใหม่