ศรีสะเกษ-รมว.คลัง เปิดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟ คาดสร้างรายให้เกษตรได้กว่า 2,500 ล้านบาท

ศรีสะเกษ-รมว.คลัง เปิดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟ คาดสร้างรายให้เกษตรได้กว่า 2,500 ล้านบาท

 

ภาพ-ข่าว ศิริเกษ หมายสุข

                เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 23 มิ.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลาง จ.ศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ปี 2566” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 มิ.ย. – 2 ก.ค. 66 เพื่อประชาสัมพันธ์ทุเรียนภูเขา ไฟศรีสะเกษ ผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ชุมชนของดีศรีสะเกษที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เพิ่มช่องทางการการตลาด และส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.ศรีสะเกษ โดยมี นายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี นางมัลลิกา เกษกุล นายกเหล่ากาชาด จ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต นายนพ พงศ์ผลาดิสัย น.ส.ชนมณัฐ รอดบุญธรรม นายสุรศิษฐ์ อินทกรอุดม รอง ผวจ.ศรีสะเกษ นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตร จ.ศรีสะเกษ นายอมรเทพ สมหมาย ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 5 พรรคเพื่อไทย น.ส.วิลดา อินฉัตร ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 7 พรรคเพื่อไทย ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ให้การต้อนรับ และร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้
             ซึ่งก่อนพิธีเปิดงานได้มีการเดินแบบผ้าไหมพื้นเมืองของ จ.ศรีสะเกษ สอดคล้องกับการคัดตัวแทน นายแบบ และเดินแบบ ที่สวมใส่ชุดพื้นบ้าน ผ้าทอเบญจศรี ที่สวยงามตระการตา นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันปลอก กิน ทุเรียนภูเขาไฟ โดยมีตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ 3 อำเภอ ลงแข่งขัน ประกอบด้วย อ.กันทร ลักษ์ อ.ขุนหาญ และ อ.ศรีรัตนะ ซึ่งกติกา คือ หากทีมใดสามารถแกะทุเรียนและกินทุเรียน 3 กก.ให้หมดก่อน เป็นผู้ชนะ ซึ่งทีมที่ชนะ เป็นทีมที่มาจาก อ.ศรีรัตนะ โดยใช้เวลาในการปลอกทุเรียนและกินทุเรียน ไปทั้งสิ้น 3.36 นาที
            นายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จ.ศรีสะเกษ ถือได้ว่าเป็นดินแดนมหัศจรรย์แห่งหนึ่งของอีสานใต้ เพราะนอกจากเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ หอมแดง กระเทียม ที่มีคุณภาพมาตรฐานจนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยแล้ว ยังเป็นแหล่งปลูกไม้ผลคุณภาพดี โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เนื่องจากเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟโบราณ และความชุ่มชื้นจากแนวป่าเทือกเขาพนมดงรัก ในพื้นที่ อ.กันทรลักษ์ ขุนหาญ และศรีรัตนะ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ จึงเปรียบเสมือนหัวรถจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนภาคการเกษตร รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและการบริการ เช่น ที่พัก ร้านอาหาร และอื่นๆ ให้ได้รับประโยชน์ไปด้วย
           โดยในปี 2566 จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดกว่า 13,600 ตัน (13,642.50 ตัน) คาดการณ์ว่าจะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในจังหวัด มูลค่าสูงถึง 2,500 ล้านบาท กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การประกวดผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นผลไม้คุณภาพดีที่สามารถผลิตได้ในจังหวัด ได้แก่ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษพันธุ์หมอนทอง เงาะพันธุ์โรงเรียน มังคุด สะตอพันธุ์ข้าว และส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม การจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ชุมชนของดีศรีสะเกษ ที่ได้คุณภาพและมาตรฐานจากเกษตรกร กลุ่มแปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กว่า 200 ร้านค้า การแสดงนิทรรศการผลงานทางวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของส่วนราชการ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การแสดงของศิลปินนักร้อง วงดนตรีโฟล์คซอง เป็นต้น
              นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า การจัดงานฯ ในครั้งนี้ นับเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างเศรษฐกิจของจังหวัด ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค ตลอดจนพ่อค้าได้พบกันโดยตรง โดยมีภาคราชการเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน ส่งเสริมในเรื่องของแหล่งความรู้ด้านวิชาการ เทคโนโลยีและการตลาด มุ่งเน้นให้เกษตรกรเลือกผลิตตามศักยภาพ และตามความต้องการของตลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการจัดงานเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด เช่น ทุเรียน และไม้ผลอื่นๆ ซึ่งเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง และตลาดโลกต้องการอยู่มาก สิ่งสำคัญที่จะทำให้การจัดงานในวันนี้ประสบความสำเร็จ จะเป็นการเชื่อมโยงตั้งแต่ตัวเกษตรกร กระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานและคุณภาพ และสนองตอบความต้องการของตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ การจัดงานในวันนี้ ยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการแก่เกษตรกร ด้านการตลาด และแนวทางการค้าขายที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนศึกษาแนวทางจากบุคคลที่ประสบความสำเร็จด้านการเกษตร เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการของตัวเอง อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วย
              นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ศักยภาพการท่องเที่ยวของ จ.ศรีสะเกษ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้กับทุกภาคส่วนในจังหวัดอย่างทั่วถึง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่เน้นการส่งเสริมอาชีพและบูรณาการภาคการเกษตร การค้า การท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกัน เพราะรายได้จากภาคการท่องเที่ยวนั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และทุกจังหวัดของประเทศไทยนั้นถือว่ามีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยว เพราะเรามีวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่น่าสนใจ และที่สำคัญเรามีธรรมชาติที่สวยงาม เป็นเรื่องจูงใจให้นักท่องเที่ยวอยากมาเที่ยว เพียงแต่ให้ทุกๆ แห่งมีความพร้อมในการที่จะเป็นเจ้าบ้านที่ดี เพื่อรับรองนักท่องเที่ยว

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!