อุบลราชธานี-ม.อุบลฯอนุรักษ์กล้วยไม้แดงฯ เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยว งานแห่เทียนพรรษาฯ
ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดอุบลราชธานี
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.ม.อุบลฯ) ร่วมกับ ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี จัดกิจกรรมอนุรักษ์กล้วยไม้แดงอุบล คงไว้เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. เป็นประธาน และรองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา รุ่งรัชกานนท์ หัวหน้าโครงการ อนุรักษ์กล้วยไม้แดงอุบล กล่าวรายงาน
อีกทั้งยังรับเกียรติจาก ว่าที่ร้อยตรี อัธยา ลาภมาก ผู้อำนวยการสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี ร่วมเป็นเกียรติในงาน และร่วมกันปลูกขยายพันธุ์กล้วยไม้แดงอุบล จำนวน 231 ต้น บริเวณท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี 231 ปี อุบลราชธานี ฮุ่งเฮือง เมืองธรรม ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งมี อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา จำนวน 30 คน เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เมื่อวันที่ วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา รุ่งรัชกานนท์ หัวหน้าโครงการ อนุรักษ์กล้วยไม้แดงอุบล กล่าวว่า กล้วยไม้แดงอุบลถือเป็นพืชประจำถิ่นพันธุ์เมืองที่หายาก ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ เพื่อสนองพระราชดำริ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้ศึกษาวิจัยขยายสายพันธุ์ขึ้น ซึ่งในปี 2564 โครงการอพ.สธ.ได้นำมาปลูกและรับการดูแลรักษาโดยท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี ออกดอกผลิบานต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างงดงาม และปี 2566
จังหวัดอุบลราชธานีกำหนดจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี “231 ปี อุบลราชธานี ฮุ่งเฮือง เมืองธรรม” จัดกิจกรรม 3 ธรรม ได้แก่ ด้านธรรมะ ด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และด้านวัฒนธรรม ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอจัดกิจกรรมด้านธรรมชาติ ผ่านกิจกรรม“อนุรักษ์กล้วยไม้แดงอุบล” ร่วมกับ ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี ในการอนุเคราะห์ใช้พื้นที่บริเวณรอบจัดกิจกรรม เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักกล้วยไม้แดงอุบลมากขึ้น
ทั้งนี้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.ม.อุบลฯ ดำเนินโครงการศึกษาความหลากหลายพรรณไม้ ทรัพยากรในบริเวณมหาวิทยาลัยและพื้นที่ใกล้เคียง จัดกิจกรรมสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืช นำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและเผยแพร่ จัดทำฐานข้อมูลของพรรณพืช พันธุ์สัตว์และทรัพยากรธรรมชาติประจำท้องถิ่น นำไปสู่การสนับสนุนการเรียนการสอน บริการวิชาการ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงนำไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนและประชาชนทั่วไป สร้างจิตสำนึก รัก หวงแหน ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย