ราชบุรี-เอลนีโญกระทบข้าวนาปรัง..ผลผลิตหายไปกว่าร้อยละ 30
ภาพ-ข่าว:สุจินต์ นฤภัย ( เต้ )
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการปลูกข้าวเป็นลำดับที่ 2 ของจังหวัด หลังทราบข่าวว่าผลผลิตข้าวนาปรังในปีนี้ลดลงเป็นอย่างมาก อันเป็นผลกระทบมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ จากนั้นได้พูดคุยกับ นายบัณฑิตย์ นิลบุตร ชาวนาใน ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง ที่กำลังเร่งเก็บเกี่ยวข้าวสายพันธุ์ปทุมธานีเนื้อที่ 7 ไร่ เพื่อส่งขายให้กับโรงสี โดยสามารถเก็บผลผลิตได้เพียงร้อยละ 50
นายบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า สำหรับฤดูนาปรังในปีนี้ ตนและชาวนาในพื้นที่ร้อยละ 80 เริ่มปลูกข้าวในช่วงต้นเดือนมีนาคม ตามรอบการปล่อยน้ำของชลประทาน โดยในระหว่างที่ปลูก กำลังเป็นช่วงฤดูร้อน ทั้งอากาศและน้ำในนาข้าว จึงมีอุณหภูมิที่สูงมากกว่าปกติ ทำให้ต้นข้าวไม่แตกกอ และมีลักษณะแคระแกรน ในทางตรงข้ามหญ้าวัชพืชกลับเจริญเติบโตได้ดี เมื่อเข้าสู่เดือน พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงข้าวเริ่มตั้งท้อง ความร้อนยังทำให้ต้นข้าวเกิดอาการเกสรแห้ง ส่งผลให้ผสมเกสรได้ไม่สมบูรณ์ เมล็ดข้าวที่ได้จึงลีบไม่เต็มเมล็ด ช่อรวงสั้น และยังเกิดเป็นเชื้อรา จากฝนหลงฤดูที่ตกลงมาในพื้นที่ จึงทำให้ผลผลิตข้าวในรอบนี้ของตนเหลือเพียงประมาณ 300 – 400 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมที่เคยได้อยู่ประมาณ 700 – 800 กิโลกรัมต่อไร่
โดยราคารับซื้อข้าวในรอบนี้อยู่ที่ประมาณ 9,000 – 9,500 บาทต่อตัน ขึ้นอยู่กับความชื้น ขณะที่ตนมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาทต่อไร่ โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผสมกับการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุน แม้ว่าการปลูกข้าวรอบนี้ตนจะตกอยู่ในภาวะขาดทุน แต่อย่างไรก็ตาม ตนก็คงจะต้องทำอาชีพนี้ต่อไป โดยหลังจากนี้ตนคงต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้น เริ่มตั้งการวางแผนเลือกช่วงเวลาปลูก เตรียมแหล่งและสายพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และอากาศ รวมถึงการเตรียมดินกำจัดวัชพืช เพื่อลดการแย่งธาตุอาหาร
ด้านนายพิเชษ รวมทรัพย์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านโป่ง จำกัด เปิดเผยว่า สหกรณ์การเกษตรบ้านโป่ง ได้ดำเนินธุรกิจในเรื่องของสินเชื่อ การจัดหาบริการและสินค้าส่งเสริมการเกษตรมาจำหน่ายให้กับสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 400 ราย รวมไปถึงการเป็นตลาดกลางรับซื้อข้าวเปลือก หรือ ท่าข้าว ทั้งจากในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง โพธาราม จ.ราชบุรี และ อ.ท่ามะกา ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
ในส่วนของสายพันธุ์ข้าวที่รับซื้อ ได้แก่ สายพันธุ์ปทุมธานี 1, สุพรรณบุรี 1, กข85 และ กข79 จากข้อมูลที่ผ่านมาในแต่ละรอบการผลิต สหกรณ์จะมีปริมาณข้าวเปลือกเข้าระบบกว่า 10,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท โดยจะมีพ่อค้าจาก จ.นครปฐม และ จ.สุพรรณบุรี เข้ามารับซื้อแต่จากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาปรังในรอบปีนี้ คาดว่าจะลดลงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 30 หรือเหลือเพียงประมาณ 7,000 ตัน ขณะที่ในรอบนาปรังปีนี้ราคารับซื้ออยู่ในเกณฑ์ที่สูง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 – 9,500 บาทต่อตัน อย่างไรก็ตาม
ตนอยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการลดต้นทุนการผลิต ทั้งค่าปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ข้าว และน้ำมันเชื้อเพลิง รวมไปถึงการขยายตลาดไปยังต่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคารับซื้อข้าวจากชาวนา ทั้งนี้หากเป็นไปได้อยากให้ราคารับซื้อเฉลี่ยขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ต้องเผชิญกับปัญหาปริมาณผลผลิตลดลงจนกระทบกับรายได้