ประจวบคีรีขันธ์-ไร้หน่วยงานยอมรับเสาไฟสับปะรด..ทนายชี้พิรุธ..ทำโครงการทิ้งนาน 10 ปีไม่เคยมีงบซ่อมของชำรุด
ภาพ-ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่เทศบาลแห่งหนึ่ง นำรถกระเช้าสีส้มบรรทุกซากเสาไฟประติมากรรมสับปะรดทรัพย์สินของทางราชการไปจำหน่ายที่“ แก้วสุวรรณรีไซเคิล” ถนนสุขสมบูรณ์ ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 จากนั้นไปขอเสาไฟกลับคืนพร้อมคืนเงินให้เจ้าของเชียงกง 1,000 บาท เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 ขณะที่หน่วยงานภาครัฐเร่งตรวจสอบ เพื่อหาเจ้าของงบจัดซื้อ จากนั้นจะดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องที่นำเสาไฟไปจำหน่ายในร้านรับซื้อของเก่า เนื่องจากเสาไฟสูง 4 เมตร มีราคารวมค่าติดตั้งต้นละ 8 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท มีมากกว่า 300 ต้น ติดตั้งที่สันเขื่อนริมอ่าวประจวบฯ ตั้งแต่หน้ารั้วกองบิน 5 ถึงค่ายลูกเสือม่องล่าย ระยะทาง 8 กิโลเมตร ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์
วันที่ 15 กรกฎาคม คืบหน้าล่าสุด พ.ต.อ.ไพทูร พรมเขียน ผกก.สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หลังจาก จ.อ.เสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคแจ้งลงบันทึกประจำวันต่อมาพนักงานสอบสวนไปตรวจสอบหลักฐานเสาไฟสับปะรด 3 ต้นที่บ่อบำบัดน้ำเสียด้านทิศใต้ หลังวัดธรรมิการาม พื้นที่ของเทศบาลเมืองประจวบฯ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงว่ามีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของเสาไฟดังกล่าว ซึ่งมี 1 ต้นมีลักษณะคล้ายกับเสาที่มีการลักลอบนำไปจำหน่ายที่ร้านของเก่า แต่จากการสอบถามเจ้าของร้านของเก่าอ้างว่ากล้องวงจรปิดชำรุด นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนอยู่ระหว่างการติดตามภาพจากกล้องวงจรปิดในเส้นทางที่คาดว่าจะมีการนำเสาไฟไปขาย
พ.ต.อ.ไพทูร กล่าวว่า เพื่อความชัดเจนพนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือสอบถามเทศบาลเมืองประจวบฯ สำนักงานโยธาจังหวัด สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อขอให้นำเอก สารหลักฐานตามระเบียบพัสดุของทางราชการมาแสดงเป็นเจ้าของทรัพย์ จากนั้นจะต้องแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์ ขณะที่เบื้องต้นผู้บริหารเทศบาลยังไม่ทราบว่ามีผู้ใดนำเสาไฟไปกองไว้ที่บ่อบำบัดน้ำเสีย สำหรับเร็วๆนี้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ตอบเป็นเอกสารเพื่อยืนยันแสดงตนเป็นเจ้าของเสาไฟสับปะรดเจ้าหน้าที่จะทำหนังสือทวงถามไปอีกครั้ง
นายธัญนพ ศรีสัมพุทธ ทนายความภาคประชาชน กล่าวว่า การตรวจสอบว่าเสาไฟสับปะรดเป็นของหน่วยงานใด สามารถทำได้ทันทีอย่างชัดเจน เนื่องจากเสาไฟติดตั้งในชุมชนเมือง ใกล้ศาลากลางจังหวัด ทุกหน่วยที่ใช้งบจัดซื้อต้องมีทะเบียนคุม เพื่อใช้งบซ่อมหากเสาไฟชำรุดเสียหาย หรือจะต้องทราบว่าปัจจุบันเสาไฟที่จัดซื้อมีกี่ต้น สำหรับเสาส่วนที่ชำรุดหน่วยงานที่จัดซื้อหรือได้รับการถ่ายโอนภารกิจจะต้องนำซากไปเก็บไว้เป็นหลักฐาน เสาไฟที่สูญหายควรไปแจ้งลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อรักษาทรัพย์สินของทางราชการและนำไปเสาใหม่ไปเปลี่ยน แต่ทราบว่าการทำโครงการตลอดแนวชายหาดในรอบ 10 ปี ยังไม่เคยมีการเปลี่ยนเสาไฟและปรับปรุงระบบไฟที่ชำรุดแต่อย่างใด
นายธัญนพ กล่าวว่า กรณีนี้พบว่ามีพิรุธอย่างชัดเจน หลังจากพบเสาไฟถูกนำไปขายของเก่านานกว่า 1 สัปดาห์แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดยอมรับว่าเป็นเจ้าของ และ หากรอให้พนักงานสอบสวนสอบถามไปเป็นครั้งที่ 2 แต่ยังไม่หน่วยใดรับว่าเป็นเจ้าของเสาไฟ มีการแจ้งความข้อหาลักทรัพย์ก็จะรวบรวบพยานหลักฐานร้องเรียนคณะกรรมการ ปปช.ตามมาตรา 157 กับผู้บริหารหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติงานต่อไป
จ.อ.เสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า จากตรวจสอบพบว่ามีเสาไฟสับปะรดที่ถูกนำไปขายในร้านรับซื้อของเก่า เป็นเสาไฟที่หักโค่นในบริเวณสันเขื่อนด้านตะวันออกของเขาช่องกระจก หลังจากนำไปขายได้เงิน 1000 บาท แล้ว เมื่อสื่อมวลชนเปิดโปงก็ไปขอซื้อเสากลับคืน โดยอ้างว่าลูกพี่สั่งให้นำรถราชการคันเดิมที่บรรทุกไปจำหน่ายนำเสาไปเก็บไว้ที่บ่อบำบัดน้ำเสีย ขณะที่ผู้บริหารระดับจังหวัด และประชาชนส่วนใหญ่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานใดและมีผู้ใดอยู่เบื้องหลัง เพื่อช่วยกันปกป้องความผิดของเจ้าหน้าที่ที่อนุญาตให้นำรถของทางราชการไปใช้ก่อคดีลักทรัพย์
“ คาดว่าจะไม่มีหน่วยงานไหนโผล่ไปแจ้งดำเนินคดีและรอให้เรื่องเงียบ เนื่องจากจะเป็นความเสียความบกพร่องของการทำงานในหน่วยงานจัดซื้อ ที่ไม่มีทะเบียนคุมพัสดุ บนเสาไฟไม่มีการทำสัญลักษณ์ใดๆ เพื่อแสดงหลักฐานว่ามีหน่วยงานใดรับผิดชอบ ทำให้เอกสารหลักฐานที่จะนำไปยื่นกับพนักงานสอบสวนไม่ครบถ้วน แสดงให้เห็นถึงเจตนา และ ข้ออ้างในการใช้งบทำโครงการด้านการท่องเที่ยวหลายสิบล้านบาทแล้วปล่อยทิ้งไม่มีการบำรุงรักษา ไม่เคยมี สตง.หรือหน่วยใดไปตรวจอบทักท้วงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน “ จ.อ.เสกสรรค์ กล่าว