ไม่รอ 10 เดือน..!!หลังมีบางคนเสนอให้รอเพื่อให้ 250 สว.หมดวาระ และหมดสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ภาพ-ข่าว;นายหัวไทร
ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเสนอเช่นนั้น ผมตั้งสมมุติฐานว่า เป็นการเสนอเป็นทางออกให้กับพรรคก้าวไกล ในการเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีรอบใหม่เมื่อไม่มี สว.คอยขัดขวางแล้ว
ส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่เป็นการเสนอเพื่อให้เป็นทางออกของการเมือง ไม่ใช่ทางออกของประเทศ เวลานี้การเมืองยังมีไพ่ให้เล่นอีกหลายใบ บางพรรคอาจจะอมสเปโตอยู่ แต่ตีบทใจแข็ง “ก็ไม่ถอย” ระวังเพื่อน”น็อคมืด”ตัวเองติดสเปโตด้วย แต่บางพรรคอาจจะไม่มีไพ่ดีในมือ แต่ส่งเสียงขู่ คำราม ตีไพ่เสียงดัง หรือตีไพ่ให้เพื่อนกิน เผื่อตัวเอง “น็อตมืด” พรรคการ เมืองที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ควรเร่งรีบเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนก็แล้วแต่ เพราะยิ่งช้าประชาชนจะยิ่งเสียโอกาส รัฐบาลรักษาการไม่ใช่ทำได้ทุกเรื่อง บางอย่างมีข้อจำกัดอยู่ ปล่อยให้มีรัฐบาลรักษาการไปนานๆ ประเทศชาติจะเสียหาย กระทบกับเศรษฐกิจ การลงทุน สิ่งที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทย คือ ต้องยอมรับความจริงว่า เศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก ภาคเอกชนเป็นตัวเสริม
อีกสองเดือนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ก็จะจบลงแล้ว และ 1 ตุลาคม ต้องเริ่มต้นปีงบประมาณให้ 2567 แต่จนถึงขณะพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา 100% ไม่อาจพิจารณาให้ทันใช้วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นแน่แท้ กระบวนการพิจารณางบประมาณประจำปี ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน จึงเชื่อได้ว่า วงเงินงบประมาณใหม่ปี 2567 น่าจะใช้ได้ประมาณเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ ขึ้นอยู่กับการเมืองว่าจะจบ หรือเข้ารูปเข้ารอยเมื่อไหร่ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้วางกรอบและจัดทำร่างไว้เสร็จแล้ว รอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาเท่านั้นเอง
เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ จึงต้องใช้กรอบวงเงินงบประมาณปี 2566 ไปก่อนได้ สำหรับใช้เป็นงบบริหาร เช่น เงินเดือนข้าราชการ แต่จะใช้งบลงทุนใหม่ไม่ได้ ตรงงบลงทุนที่ทำอะไรไม่ได้นี้แหละจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ แน่นอนว่าเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวย่อมกระทบต่อประชาชนด้วย การจ้างงานก็อาจจะมีปัญหา
รัฐบาลหน้าจึงมีเวลาในการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 เพื่อการลงทุนภาครัฐเพียงประมาณ 8 เดือนเท่านั้นเอง ปัญหาที่เห็นอยู่ข้างหน้า 1.การจัดทำ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้าออกไปอีก 2.นักลงทุนต่างชาติเข้าสูโหมด Wait&See รอนโยบายจากรัฐบาลใหม่ 3.ภาคเอกชนในประเทศรอนโยบายจากรัฐบาลใหม่เช่นกัน 4.ประเทศขาดรัฐบาลมาวางนโยบาย ในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ 5.GDP ปีหน้าน่าจะขยายตัวได้ในะดับที่เรียกว่า “แย่” ไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้
การเสนอให้รออีก 10 เดือนจะยิ่งไปกันใหญ่ พรรคการเมืองก็ไม่ควรคิดในกรอบนี้ อันเป็นข้อเสนอที่หาทางออกให้พรรคการเมืองบางพรรค ไม่ใช่หาทางออกให้ประเทศ ประเทศชาติยังมีทางออก ถ้าพรรคการเมืองบางพรรคผ่อนคลายเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลลงมาบ้าง ไม่ใช่ตึงจนขาด รัฐบาลผสมไม่มีพรรคไหน หรือใครได้ไป 100% เพราะรัฐบาลผสมก็ต้องมาจากนโยบายของหลายพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องของการเจรจา ต่อรอง บนผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน อย่ารักชาติ รักประชาชนแค่ลมปากบนเวทีปราศรัยต่อหน้ามวลชน หรือให้สัมภาษณ์สื่อ ต่างกอดรัดฟัดประชาชนไว้ด้วยความรัก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายที่ถูกส่งให้ไปเป็นฝ่ายอนุรักษ์ก็ตาม ควรจะใช้ทันสมองที่มีอยู่คิดร่วมกันหาทางออกให้ประเทศ อันไหนยอมได้ก็ต้องยอม ผ่อนได้ก็ต้องผ่อน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้
เวลานี้พรรคหนึ่ง อย่างก้าวไกลก็ไม่ยอมเรื่องแก้ ม.112 อ้างว่าเป็นเรื่องที่รับปากไว้กับประชาชน ยังยืนยันเดินหน้าด้วยกลไกของสภา แม้ไม่มีอยู่ใน mou ก็ตาม กลัวว่าจะเสียสัจจะ จนทำให้แพ้โหวตในสภามาแล้ว เมื่อสมาชิกวุฒิสภาไม่ยกมือสนับสนุน อีกขั้วหนึ่ง 4-5 พรรค ทั้งพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ต่างเสียงแข็งไม่เอาก้าวไกล ไม่อาจทำงานร่วมกันได้ ไม่ร่วมงานกับพรรคที่แก้ ม.112
การเมืองจึงมาติดกับดักอยู่ตรงนี้ เดินหน้าไปยาก แต่ถ้าพรรคการเมืองผ่อนหนักผ่อนเบา อันไหนยอมได้ก็ยอม เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แล้วไปหาเหตุผลอธิบายกับประชาชน อธิบายกับมวลชนของพรรค เวลานี้แต่ละพรรคผวากับ “ผิดสัจจะ” หรือ”ตระบัตสัตย์” จนขยับตัวไปไหนไม่ได้ กลัวเลือกตั้งสมัยหน้าจะสูญพันธุ์บ้าง การเมืองอธิบายได้หมด ขอให้เป็นทางออกที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชน แต่อาจจะไม่ถูกใจคนทั้ง 100 เท่านั้นเอง ไม่อยากเห็นวงจรอุบาทว์เข้ามาอาศัยจังหวะเบียดแทรกเข้ามาในสถานการณ์ที่การ เมืองยังไม่ลงตัว