อุบลราชธานี-ม.อุบลฯ จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ มอบ.วิจัย ครั้งที่ 17
ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดอุบลราชธานี
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ มอบ. วิจัย ครั้งที่ 17 “การวิจัยและนวัตกรรมภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก” (Research and Innovation in a Changing World) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี เป็นประธาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ กล่าวรายงาน ในงานจัดให้มีการแสดงนิทรรศการงานวิจัยและนวัตกรรมของนักวิจัย การมอบรางวัลนักวิจัยดีเด่น และผลงานวิจัยดีเด่น การบรรยายพิเศษ การเสวนา การนำเสนอผลงานการวิจัยแบบโปสเตอร์และบรรยาย จำนวน 65 ผลงาน ซึ่งมีอาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาเข้าร่วมงานจำนวนมาก ณ ห้องประชุมโรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 20 – 21 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ กล่าวว่า การประชุมวิชาการระดับชาติ มอบ. วิจัย ครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ “การวิจัยและนวัตกรรมภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก: Research and Innovation in a Changing World” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะนำเสนอผลงานวิจัยและผลงานนวัตกรรมที่ผู้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้ นับเป็นเวทีการนำเสนอผลงานวิจัย เวทีพบปะและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้นักวิจัยในสาขาต่างๆ โดยครั้งนี้มีการนำเสนอผลงานวิจัย ทั้งสิ้นจำนวน 65 ผลงาน แบ่งเป็นการนำเสนอแบบบรรยาย จำนวน 34 ผลงาน และการนำเสนอแบบโปสเตอร์ จำนวน 31 ผลงาน
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษ และเสวนาในประเด็นต่างๆ อาทิ หัวข้อ “ระบบนิเวศนวัตกรรมของไทย และแนวทางการผลักดันงานวิจัยไปสู่อุตสาหกรรม” โดย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) การเสวนา เรื่อง “การวิจัยเพื่อผลักดันธุรกิจนวัตกรรม และอุตสาหกรรมภายใต้การเปลี่ยนแปลง” การเสวนา “GDI ยุทธศาสตร์ใหม่จีน โอกาสธุรกิจสัตว์น้ำไทย และภูมิภาคอาเซียน บนเส้นทางการค้าอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “แนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทยและการเชื่อมโยงกับอาหารพื้นบ้านแปรรูป”
โดย นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทยและประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย และ การเสวนา “ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นธรรม บนเส้นชายแดน” โดยคณะนักวิจัยจากกลุ่มวิจัยการพัฒนาความรู้ด้านการข้ามชาติและชายแดนศึกษาในพื้นที่สังคมและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการพัฒนางานวิจัย และงานริเริ่มสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ มีประโยชน์ สนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ในวงกว้างและก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชนได้อย่างแท้จริง