ปทุมธานี-“ทต.บ้านกลาง”จัดประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ภาพ-ข่าว:อนันต์ วิจิตรประชา
วันที่ 29 กรกฎาคม 2566 ที่ วัดมะขามใต้ (วัดชินวราราม วรวิหาร) บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดปทุมธานี นายปัญญา นพขำ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง นายสายัณ นพขำ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง พร้อมด้วยสมาชิกสภาตำบลบ้านกลาง เจ้าหน้าที่ตำบลบ้านกลาง จัดประเพณีแข่งขันเรือยาวเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชิงถ้วยพระราชทาน 4 รุ่น รุ่นที่ 1 ประเภท 55 ฝีพาย รุ่นที่ 2 ประเภท 40 ฝีพาย รุ่นที่ 3 ประเภท 30 ฝีพาย รุ่นที่ 4 เรือพื้นบ้าน(พายม้า) วันที่ 28-30 กรกฎาคม 2566 ณ ลำน้ำเจ้าพระยาหน้าวัดมะขาม-วัดศาลเจ้า โดยมีนายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้
นายปัญญา นพขำ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง กล่าวว่า การแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานจังหวัดปทุมธานี มีวัตถุประสงค์ดังนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมประเพณีการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน จังหวัดปทุมธานี ให้คงอยู่สืบไปเพื่อให้ข้าราชการ นิสิต นักศึกษา นักเรียน ตลอดจนพ่อค้า แม่ค้า ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับงานแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทาน จังหวัดปทุมธานีเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการจัดงานด้านขนบธรรม เนียมและประเพณีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี การแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานจังหวัดปทุมธานี แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 1. ประเภทเรือยาวใหญ่ 55 ฝีพาย มีทีมเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 8 ทีม 2. ประเภทเรือยาวกลาง 40 ฝีพาย มีทีมเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 8 ทีม 3. ประเภทเรือยาวเล็ก 30 ฝีพาย มีทีมเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 13 ทีม4. ประเภทเรือพายม้า 10 ฝีพาย มีทีมเข้าร่วมการแข่งขัน 8 ทีม
นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีกล่าวว่า ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เทศบาลตำบลบ้านกลาง ได้ให้เกียรติผมมาเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันเรือยาวประเพณีจังหวัดปทุมธานี “เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ก่อนอื่นต้องขอบคุณท่านนายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง และผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันทุกท่าน ที่ได้เสียสละ เวลา แรงกาย แรงใจเพื่อให้การแข่งขันเรีอยาวในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จ การแข่งขันเรือยาว จัดเป็นประเพณีที่มีมายาวนาน อันสืบเนื่องมาจากวิถีการดำรงชีวิตของคนไทยในอดีตครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความผูกพันกับสายน้ำ โดยใช้เรือเป็นพาหนะซึ่งถือได้ว่าเป็นพาหนะที่สำคัญในการคมนาคม และประกอบอาชีพจนกลายเป็นแหล่งก่อเกิดวัฒนธรรมและอารยธรรมแห่งลำน้ำของคนไทย ลำน้ำยังเป็นแหล่งประกอบกิจกรรมเพื่อสร้างความสนุกสนาน รื่นเริงและเชื่อมความสามัคคี ระหว่างคนไทยในแต่ละท้องถิ่น และจากการที่ได้ทราบจากการกล่าวรายงาน ว่ามีเรือที่เข้าร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมากถึง 37 ทีมซึ่งถือได้ว่าเป็นสนามการแข่งขันเรือยาวที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแข่งขันครั้งนี้ จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้เกิดความรู้สึก มีความรัก มีความสามัคคีสมานฉันท์มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศชาติต้องการความปรองดองสมัครสมานสามัคคี และความสมานฉันท์เป็นอย่างยิ่ง ผมจึงขอถือโอกาสนี้ขอให้พวกเราได้สนุกสนานกับการแข่งขันเรือยาวประเพณีจังหวัดปทุมธานี ชิงถ้วยพระราชทาน ซึ่งผู้เข้าร่วมทำการแข่งขันทุกท่านได้ตั้งใจฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดีและขอให้ทุกท่านได้ยึดมั่นในการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ได้ผนึกกำลังในการพัฒนาประเทศชาติ อันเป็นที่รักยิ่งของเราให้มีความเจริญก้าวหน้า พัฒนาสืบต่อไป การจัดการแข่งขันเรือยาวในวันนี้สำเร็จขึ้นได้ก็ด้วยความร่วมมือจากองค์กรและบุคลากรหลายภาคส่วนซึ่งผมขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้
การแข่งขันเรือพายจัดเป็นประเพณีที่มีมายาวนาน อันสืบเนื่องมาจากวิถีการดำรงชีวิตของคนไทยในอดีต ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีความผูกพันกับสายน้ำโดยใช้เรือเป็นพาหนะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพาหนะที่สำคัญในการคมนาคมและการประกอบอาชีพจนกลายเป็นแหล่งก่อเกิดวัฒนธรรมและอารยะธรรมแห่งลำน้ำของคนไทย ลำน้ำยังเป็นแหล่งประกอบกิจกรรมเพื่อสร้างความสนุกสนานความรื่นเริงและความสามัคคีระหว่างคนในแต่ละท้องถิ่น การแข่งขันเรือพายจึงได้กำเนิดขึ้นมาจากผู้ที่ใช้วิถีชีวิตทางสายน้ำนับว่าเป็นกีฬาที่สร้างความสนุกสนาน ความบันเทิงและสร้างความสามัคคีระหว่างคนไทยในท้องถิ่นเดี่ยวกันนับว่าเป็นประเพณีอันดีงามเป็นมรดกแห่งลำน้ำที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์สืบสานให้คงอยู่สืบไป