เพชรบุรี-ชม “วิถีประเพณีของคนเมืองเพชร กับขบวนวัวเทียมเกวียนแห่เทียนพรรษา

เพชรบุรี-ชม “วิถีประเพณีของคนเมืองเพชร กับขบวนวัวเทียมเกวียนแห่เทียนพรรษา

ภาพ-ข่าว:สุรพล นาคนคร

ถวายเป็นพุทธบูชา ของชาวตำบลท่าแลง ณ วัดเขาปากช่อง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี “แห่งเดียวในประเทศไทย” “หนึ่งเดียวในโลก”

                เมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 ส.ค.66 ที่สนามหน้าเทศบาลตำบลท่าแลง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เทศบาลตำบลท่าแลง ร่วมกับวัดเขาปากช่อง และ ชมรมอนุรักษ์วัวเทียมเกวียน-เทียมไถ จ.เพชรบุรี จ.ราชบุรี จ.กาญจนบุรี จัดโครงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น “ขบวนวัวเทียมเกวียนประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ครั้งที่ 14” ประจำปี พ.ศ.2566 โดยมีนายจงรัก. เพชรเสน นายอำเภอท่ายาง เป็นประธาน นายพรชัย ภู่ระหงษ์ นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง นายเฉลา สุวรรณชาติ กำนันตำบลท่าแลง และชาวบ้านในพื้นที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ร่วมพิธีเปิดงาน
                 นายพรชัย กล่าวว่า ต.ท่าแลง เป็นพื้นที่เกษตร ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในอดีตจึงมีการใช้แรงงานวัวในการทำการเกษตรและขนส่งพืชผลทางการเกษตร แม้ปัจจุบัน ต.ท่าแลง จะไม่ได้ใช้วัวเทียมเกวียนในภาคการเกษตร แต่ยังมีการอนุรักษ์วัวและเกวียนเพื่อใช้ในขบวนแห่งานพิธีต่างๆ เช่น งานแห่นาค แห่ขันหมาก แห่องค์กฐิน ผ้าป่าสามัคคี แห่เทียนเข้าพรรษา โดยพี่น้องชาว ต.ท่าแลง ได้รื้อฟื้นการอนุรักษ์ซ่อมแซมเกวียนให้สามารถนำกลับมาใช้งานได้ปกติ รวบรวมวัวเทียมเกวียนร่วมขบวนแห่เทียนเข้าพรรษาถวายวัดเขาปากช่อง
               ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อถึงเทศกาลวันเข้าพรรษาของทุกปี เทศบาลตำบลท่าแลง ผู้นำชุมชน พร้อมด้วยชาวตำบลท่าแลงทั้ง 10 หมู่บ้าน นำวัวเทียมเกวียนที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงามนำมาแห่เทียนพรรษาเพื่อไปถวายแก่วัดเขาปากช่อง จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2551 ในสมัยพระครูปัญญาวัชราธร หรือหลวงพ่อชวน อดีตเจ้าคณะอำเภอแก่งกระจาน อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาปากช่อง
              ในปีแรกมีขบวนวัวเทียมเกวียน จำนวน 30 เล่ม และมีเกวียนเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีพระปลัดเสน่ห์ อนุทสฺสี เจ้าอาวาสวัดเขาปากช่องรูปปัจจุบันสานต่อเจตนารมณ์ของอดีตเจ้าอาวาส โดยปีนี้มีวัวเทียมเกวียนร่วมขบวนแห่ 123 เล่ม ถือว่ามากที่สุดของ จ.เพชรบุรี
              การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนเมืองเพชรบุรี ซึ่งปัจจุบัน “วัวเทียมเกวียน” ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ พ.ศ.2561 ด้านการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนมีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!