ปราจีนบุรี-ชูป้ายต้าน..!ไม่เอาฟาร์มหมู..!!มติประชาชนเป็นเอกฉันท์ “ไม่เห็นชอบ”

ปราจีนบุรี-ชูป้ายต้าน..!ไม่เอาฟาร์มหมู..!!มติประชาชนเป็นเอกฉันท์ “ไม่เห็นชอบ”

ภาพ-ข่าว:มานิตย์ สนับบุญ

            วันนี้ 19 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานว่า ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม (อบต.) อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี บริษัทพีแอลเอฟ กรุ๊ป จำกัด จัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการ และรับฟังความเห็นไปจัดทำมาตรการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจให้เหตุรำคาญ หรือผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมของประชาชนที่เกี่ยวข้อง ที่จะประกอบกิจการฟาร์มสุกร ในตำบลท่างาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี โดยเข้าร่วมรับฟังความเห็นครั้งนี้มากกว่า 200 คน
            บรรยากาศพบการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสูง พร้อมป้ายชูคัดค้านสลับตลอด มีหน่วยงานราชการในพื้นที่และหน่วยงานราชที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังและให้ข้อคิดเห็นในครั้งด้วย ได้แก่ ผู้แทนจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองปราจีนบุรี ผู้แทนจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองปราจีนบุรี

            ผลการรับฟังความเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่เห็นชอบ ให้มีการประกอบกิจการฟาร์มสุกรในพื้นที่ ที่จะมีการขออนุญาตประกอบกิจการ เนื่องจากมีผู้อยู่อาศัยติดกับบริเวณอาณาเขตประกอบการ จำนวน 178 ครัวเรือน มีระยะห่างจากวัดสง่างาม 3.4 กิโลเมตร ห่างจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรผู้นำทางการแพทย์แผนไทย 5.03 กิโลเมตร ห่างจากโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรง 5.66 กิโลเมตร
            โดยมีข้อห่วงกังวลว่าจะเกิดปัญหาเรื้อรังกระทบต่อสุขภาวะของชุมชน และพื้นที่อ่อนไหว เช่น โรงพยาบาบาล และ โรงเรียน 3 ประการ ได้แก่ ผลกระทบเรื่องกลิ่นเหม็นจากมูลสุกร ที่ต้องขับถ่ายทุกวัน โดยกลิ่นสามารถกระจายได้ไกลถึง 10 กิโลเมตร และประชาชนไม่เชื่อว่าจะสามารถป้องกันได้ 100 % ซึ่งจะส่งผลกระทบสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ คนแก่ คนป่วย ส่งผลให้สุขภาพจิตเสีย ปวดศีรษะหัวและเจ็บป่วยด้วยโรคทางลมหายใจ และกระทบต่อสุขภาพและสมาธิในการเรียนหนังสือของนักเรียน
           ผลกระทบจากการจัดการน้ำเสียและกากของเสีย พื้นที่ขอประกอบกิจการฟาร์มสุกร อยู่ใกล้นาข้าวของชาวบ้าน และแหล่งน้ำคลองวังม้าแก้ว ที่เชื่อมกับคลองดักรอบ ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี หากกระบวนการจัดการน้ำเสียและกากของเสีย จะส่งผลกระทบต่อผลิตข้าว และคุณภาพน้ำในคลองสายหลัก รวมถึงแม่น้ำปราจีนบุรี ผลกระทบเรื่องการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน ที่จะนำเชื้อโรคเข้าสู่ชุมชน โรงเรียน และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร รวมถึง ภูมิภูเบศร ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้สมุนไพรและภูมิปัญญาสุขภาพของจังหวัดปราจีนบุรี 1 ใน 13 จังหวัดที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นเมืองสมุนไพร (Herbal City)

           ข้อมูลจากคู่มือแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมฟาร์มสุกร กรมควบคุมมลพิษ 2552 และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่าฟาร์มสุกรควรอยู่ห่างจากชุมชน แหล่งน้ำสาธารณะ โรงฆ่าสัตว์ และตลาดนัดค้าสัตว์ระยะทางมากกว่า 5 กิโลเมตร การออกมาแสดงความเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยืนยันเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่ที่จะไม่แบกรับความเสี่ยง จากการจัดการที่ล้มเหลวของฟาร์มสุกร ที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังของหลายชุมชน
            ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการควบคุมและป้องกันเหตุรำคาญหรือผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของสถานประกอบกิจการ การเพาะพันธุ์ เลี้ยง และการอนุบาลสุกร พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ใจความระบุว่า ข้อ 4 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีมาตรการควบคุมและป้องกันเหตุรำคาญ หรือ ผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามที่ประกาศนี้กำหนด ข้อ 5 สถานประกอบกิจการต้องมีระยะห่างจากศาสนสถาน โรงพยาบาล สถานศึกษา สถานเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยพักฟื้น หรือผู้พิการ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยในบริเวณ ดังต่อไปนี้
(1) สถานประกอบกิจการที่มีสุกร ตั้งแต่ สิบเอ็ด ถึง ยี่สิบตัว ต้องมีระยะห่าง ไม่น้อยกว่า ห้าสิบเมตร
(2 ) สถานประกอบกิจการที่มีสุกร ตั้งแต่ ยี่สิบเอ็ด ถึง ห้าสิบตัว ต้องมีระยะห่าง ไม่น้อยกว่า หนึ่งร้อยเมตร
(3) สถานประกอบกิจการที่มีสุกร ตั้งแต่ ห้าสิบเอ็ด ถึง ห้าร้อยตัว ต้องมีระยะห่าง ไม่น้อยกว่า สองร้อยเมตร
(4) สถานประกอบกิจการที่มีสุกร ตั้งแต่ ห้าร้อยเอ็ด ถึง ห้าพันตัว ต้องมีระยะห่าง ไม่น้อยกว่า หนึ่งพันเมตร
(5) สถานประกอบกิจการที่มีสุกร ตั้งแต่ ห้าพันเอ็ดตัวขึ้นไป ต้องมีระยะห่าง ไม่น้อยกว่า สองพันเมตร ในกรณีที่สถานประกอบกิจการใดมีเหตุจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนสุกรจนไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ดำเนินกิจการแจ้งเหตุจำเป็น และจำนวนสุกรที่เพิ่มขึ้นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในระยะเวลา สิบห้าวันนับแต่วันที่มีเหตุตามวรรคหนึ่ง และต้องดำเนินการให้จำนวนสุกรเป็นไปตามวรรคหนึ่งภายใน ระยะเวลาเก้าสิบวัน

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!