ศรีสะเกษ-เปิดยิ่งใหญ่ตระการตางานเสวนา”โขง ชี มูล”
ภาพ-ข่าว:ศิริเกษ หมายสุข
เพื่อให้เครือข่ายทางวัฒนธรรมทั้ง 2 จังหวัด ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์และความคิดเห็นในการอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนาลุ่มน้ำโขง ชี มูล ซึ่งสภาวัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ ร่วมกับ สภาวัฒนธรรม จ.อุบลราชธานี ได้ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น โดยมีการแสดงจากเครือข่ายวัฒน ธรรม การแสดงอาภรณ์ (ผ้า เครื่องประดับและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม) การจัดสาธิตอาหารท้องถิ่นของ จ.อุบลราชธานีและ จ.ศรีสะเกษ การแสดงต้อนรับของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ซึ่งทุกการแสดงจัดได้อย่างยิ่งใหญ่ตระการตาเป็นอย่างยิ่ง จากนั้น เป็นการประชุมเสวนาในหัวข้อ แนวทางการขับเคลื่อนวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมี นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และ นายกิตติพงษ์ เทียมสุวรรณ ประธานสภาวัฒนธรรม จ.อุบลราชธานี เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี นายประหยัด ถิลา วัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายรัฐวิทย์ อังคสกุลเกียรติ ประธานหอการค้า จ.ศรีสะเกษ คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมทั้ง 2 จังหวัด ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนชาวศรีสะเกษ มาร่วมพิธีและให้การต้อนรับ
วิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จ.ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของชนเผ่าต่างๆ ได้แก่ ลาว เขมร กูย เยอ จนได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนสี่เผ่าไท” ที่มีศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีการดำเนินชีวิต การอยู่ร่วมกัน ภาษา ศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี การแต่งกาย อาหารการกิน ที่หลากหลายและแตกต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน สามัคคีปรองดอง และ จ.ศรีสะเกษ ยังมีผลไม้ที่สามารถปลูกได้ ในพื้นที่และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง มีผลไม้หลากหลายชนิดมีชื่อเสียงไม่แพ้จังหวัดใด เช่น ทุเรียนภูเขาไฟ เงาะ มังคุด สะตอ เป็นต้น สภาวัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ โดยได้มีการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมร่วมกันทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดงานอาหารอาภรณ์ การจัดงานรากวัฒนธรรมของดีบ้านฉันในงานเทศกาลดอกลำดวนบานสืบสานประเพณีสี่เผ่าไท งานตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม เป็นต้น
นายกิตติพงษ์ เทียมสุวรรณ ประธานวัฒนธรรม จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้เครือข่ายทางวัฒนธรรมทั้ง 2 จังหวัด ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์และความคิดเห็นในการอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพและเชื่อมโยงเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมด้วยความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ตามวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง ชี มูล ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น และพัฒนาต่อยอดเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป
นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดการประชุมเสวนาในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายทางวัฒนธรรมให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เป็นการระดมความคิดเห็น และเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมร่วมกันของ 2 จังหวัด ที่จะนำเอาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง ชี มูล มาพัฒนาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ ให้เกิดมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมองค์กรภาคประชาชน “สภาวัฒนธรรม” ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนทางสังคม ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งในระดับกลุ่มอาชีพ ระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานของสภาวัฒนธรรมเกิดความคล่องตัว และสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ขอชื่นชมสภาวัฒนธรรม จ.อุบลราช ธานี และสภาวัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมในพื้นที่ได้อย่างเข้มแข็งและเป็นที่ประจักษ์ได้เป็นอย่างดียิ่ง