ตาก-เทศบาลตำบลพบพระ เร่งรณรงค์พ่นหมอกควัน ปูพรมทุกพื้นที่ 6 ชุมชน กำจัดยุงลาย

ตาก-เทศบาลตำบลพบพระ เร่งรณรงค์พ่นหมอกควัน ปูพรมทุกพื้นที่ 6 ชุมชน กำจัดยุงลาย

ภาพ-ข่าว:ชวลิต วิกุลชัยกิจ

                    เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 นายนิกร จันตา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลพบพระ มอบหมายให้ นายชาตรี แสนคำลือ นักวิชาการสาธารสุข ชำนาญการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองสาสุข โดยมี คณะผู้บริหาร เทศบาลตำบลพบพระพร้อมด้วยสมาชิกสภาเทศบาลตำบลพบพระ ร่วมพ่นหมอกควัน ป้องกันยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออกและมาลาเรีย โดยร่วมกับ เจ้าหน้าที่ ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงหน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง ที่2.3.2 พบพระ ใช้รถใช้เครื่องขนาดใหญ่การพ่นฝอยละอองและใช้เครื่อง พ่นหมอกควัน ทำการพ่นครอบคลุมทุกชุมชน ทั้งนี้เทศบาลตำบลพบพระ ใช้รถประชาสัมพันธ์ ให้กับพี่น้อง ในการ รณรงค์ครั้งนี้
                    นายภิรมย์ ภู่นวล สาธารณสุขอำเภอพบพระ กล่าวว่า สถานการณ์ โรคไข้เลือดออก อำเภอพบพระ แยกรายตำบล/หมู่บ้าน รายสัปดาห์ ปี พ.ศ.2566 (ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2566 ที่มา : รายงานระบาดวิทยา 506 สสอ.พบพระ) พบผู้ป่วยทั้งหมด 142 ราย อัตราป่วย 150.31 ต่อแสน ปชก. ไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิต ตำบลในอำเภอพบพระ ที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ตำบลช่องแคบ (64 ราย) อัตราป่วยเท่ากับ 417.91 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ ได้แก่ ตำบลรวมไทยฯ (28 ราย) อัตราป่วยเท่ากับ 117.23 ต่อแสนประชากร
ตำบลพบพระ (19 ราย) อัตราป่วยเท่ากับ 116.53 ต่อแสนประชากร ตำบลวาเลย์ (13 ราย) อัตราป่วยเท่ากับ 101.21 ต่อแสนประชากร ตำบลคีรีราษฎร์ (18 ราย) อัตราป่วยเท่ากับ 68.98 รายต่อแสนประชากร
                    โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบได้ในทุกกลุ่มอายุ พบมากในเด็กวัยเรียน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส มี 4 ชนิด ดังนั้นถ้ามีการติดเชื้อชนิดใดแล้วจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนั้นไปตลอดชีวิต  และจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกี อีก 3 ชนิดในช่วงสั้นๆ ไม่ถาวร ประมาณ 6-12 เดือน หลังจากระยะนี้แล้ว คนที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกี ชนิดหนึ่งอาจติดเชื้อไวรัสเดงกี ชนิดอื่นที่ต่างไปจากครั้งแรกได้ เป็นการติดเชื้อซ้ำ  การติดต่อ โรคไข้เลือดออกติดต่อถึงกันได้โดยมียุงลาย เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ โดยยุงตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยในระยะไข้สูง และฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน จากนั้นเมื่อยุงตัวนี้ไปกัดคนปกติ ก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคน และผ่านระยะฟักตัวประมาณ 5-8 วัน (สั้นที่สุด 3 วัน – นานที่สุด 15 วัน) ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้ สำหรับเชื้อเดงกีนี้จะอยู่ในตัวยุงนั้นตลอดชีวิตของยุง คือ ประมาณ 45 วัน
                    อาการ หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ ดังนี้ 1.ไข้สูงเฉียบพลัน (38.5 – 40 องศาเซลเซียส) ประมาณ 2-7 วัน หน้าแดง ปวดกระบอกตา เบื่ออาหาร อาเจียน ส่วนใหญ่จะไม่มีน้ำมูกไม่ไอ 2. มีอาการเลือดออก เส้นเลือดเปราะ แตกง่าย มีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ มีเลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน อาจมีอาเจียนและอุจจาระสีดำ 3. มีปวดท้อง ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย 4. มีภาวะช็อก ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง เนื่อง จากมีการรั่วของเลือด ออกไปยังช่องปอดและช่องท้อง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว  ความดันโลหิต แคบ  ส่วนใหญ่ จะรู้สติ พูดรู้เรื่อง กระหายน้ำ อาจมีอาการปวดท้องกะทันหันก่อนเข้าสู่ภาวะช็อก ถ้ารักษาไม่ทัน จะมีอาการ ปากเขียว ผิวสีม่วง ๆ ตัวเย็นชืด จับชีพจรและวัดความดันไม่ได้ ความรู้สติเปลี่ยนไป และจะเสียชีวิตภายใน 12 – 24 ชั่วโมง ในรายที่ไม่รุนแรง เมื่อให้การรักษาในช่วงระยะสั้นๆ ก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
                   การรักษาไม่มีการรักษาที่เฉพาะและไม่มีวัคซีนป้องกัน ให้การรักษาแบบประคับประคอง ตามอาการ โดยให้ยาลดไข้ แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอล ให้น้ำให้เพียงพอ และพักผ่อน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้ส่งต่อผู้ป่วยไปพบแพทย์  เมื่อผู้ป่วยไข้เลือดออก จะมีไข้สูง 4-5 วัน (พบร้อยละ 70)  ซึ่งวันที่เป็นระยะวิกฤต/ช็อกจะตรงกับวันที่ไข้ลง หรือไข้ต่ำกว่าเดิม จึงพึงระลึกเสมอว่าวันที่ 3 ของโรค เป็นวันที่เร็วที่สุดที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีโอกาสช็อกได้  และระหว่างที่ผู้ป่วยมีอาการช็อก จะมีสติดีสามารถพูดจาโต้ตอบได้ จะดูเหมือนผู้ป่วยที่มีแต่ความอ่อนเพลียเท่านั้น ให้รีบนำผู้ป่วยส่งต่อโรงพยาบาลระดับสูงทันที
                 การป้องกันโรค ปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก จัดเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้ให้เป็นระเบียบ เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น กะลา กระป๋อง ถุงพลาสติก ควรเก็บทิ้งหรือถม ยางรถยนต์เก่าสามารถดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์หรือขายให้สถานประกอบการ เก็บแหล่งน้ำ ปิดให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ภาชนะขังน้ำขนาดเล็กหมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกันดอกไม้สด แจกันหิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ ขวดเลี้ยงพลูด่าง ไม้ประดับ ใส่ทรายธรรมดาในจานรองกระถางต้นไม้ให้ดูดซับน้ำ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ  โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
                ทั้งนี้ ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลันนานเกินกว่า 2 วันร่วมด้วยกับอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หยุดยาก รวมถึงภาวะตับวาย เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และ ไดโคลฟีแนค สำหรับร้านขายยาและคลินิก ควรแนะนำผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออกให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!