ศรีสะเกษ-103 พยาบาลร่ำไห้..!!วอนนายกฯเศรษฐา รมว.สธ.รมว.มท.ให้โอนย้ายไปสังกัด อบจ.ได้
ภาพ-ข่าว:ศิริเกษ หมายสุข
ถามดังๆว่า”พวกตนผิดอะไรจึงโดนดึงรั้งขัดขวางจากผู้มีอำนาจ”ขณะที่ สว.ประกาศพร้อมให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกฎหมายอย่างเต็มที่
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสำนักงาน อบจ.ศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภาและคณะกรรมาธิการ ได้เดินทางมาศึกษาดูงานในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ โดยได้ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมของการพัฒนา จ.ศรีสะเกษ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไข โดยคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ได้รับฟังการบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมการบริหารงานการบริหารงบประมาณ แนวคิดการขับเคลื่อนการพัฒนา “ท้องถิ่นดิจิทัล” ความคืบหน้าการดำเนินงานสถานีอนามัยเฉลิม พระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ของ อบจ.ศรีสะเกษ พร้อมทั้งรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขจากนายก อบจ.ศรีสะเกษ และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย น.ส.ชนมณัฐ รอดบุญธรรม รอง ผวจ.ศรีสะเกษ นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ นายเกียรติคุณ ทวี ผอ.สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีภูมิซรอล ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) จ.ศรีสะเกษและคณะเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับและร่วมประชุมในครั้งนี้
หลังจากเสร็จการประชุมแล้ว พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภาและคณะกรรมาธิการ ได้ลงมาพบกับคณะพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข และแพทย์แผนไทย ที่ได้แสดงความประสงค์ต้องการถ่ายโอนจากสังกัดเดิมคือ กระทรวงสาธารณสุขไปยัง อบจ.ศรีสะเกษ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณ สุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการประชุมครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2566 มีมติเห็นชอบข้อมูลการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี และ รพ.สต.ให้แก่ อบจ.และจำนวนบุคลากรที่ประสงค์ถ่ายโอนมาสังกัด อบจ.ในปีงบประมาณ 2567 ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเสนอ แต่ปรากฏว่า การดำเนินการยังไม่มีคำสั่งและหนังสือสั่งการแจ้งลงมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งให้ข้าราชการที่ได้รับการถ่ายโอนเพื่อให้ปฏิบัติราชการที่สังกัดใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่มีการแจ้งด้วยวาจาว่า ให้ข้าราชการที่มีรายชื่อได้รับการถ่ายโอนทั้ง 103 ราย ให้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานใหม่ตามที่ได้รับการถ่ายโอนได้ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันทางหน่วยงานต้นสังกัดเดิมทั้ง รพ.จังหวัด รพ.อำเภอเตรียมทำหนังสือเรียกตัวพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ รพ.สต.ให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ที่ต้นสังกัดเดิม เนื่องจากว่า ยังไม่มีคำสั่งและหนังสือสั่งการแต่อย่างใด
น.ส.นวลฉวี สิทธิโสม แพทย์แผนไทยชำนาญการ ปัจจุบันปฏิบัติงานที่ รพ.สต.บ้านหนองคู ต.จาน อ.เมืองศรีสะเกษ เดิมปฏิบัติงานที่ รพ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวด้วยน้ำตานองหน้าว่า พวกตนโดนกดดันจากทั้ง 2 ฝ่าย คือทางฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย จริงๆแล้วเรามีความตั้งใจที่จะกลับมาดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่แล้วพวกเรามีความตั้งใจเป็นอย่างมากที่จะพัฒนาพื้นที่พัฒนาบ้านเกิด โดยส่วนใหญ่แล้วจะกลับมาอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง พอกลับมาแล้วผู้ใหญ่บอกว่าจะให้พวกเรากลับไปทำงานที่เดิมเป็นการทำร้ายจิตใจพวกตนเป็นอย่างมาก พวกตนผิดอะไรจึงโดนดึงรั้งขัดขวางจากผู้มีอำนาจ ทำให้พวกตนทำตัวไม่ถูก เพราะว่าพวกเรารู้สึกเคว้งคว้างมากๆที่ต้องถูกปล่อยให้อยู่ตรงนี้และไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะว่าอีกฝั่งหนึ่งก็แจ้งกลับไปทำงานที่เดิม อีกฝั่งหนึ่งก็ให้อยู่ทำงานที่ใหม่ต่อไป รอบนี้ จ.ศรีสะเกษ มีการถ่ายโอนจำนวน 103 คน พวกเราตั้งใจจริงๆตั้งใจที่จะมาไม่อยากกลับไปที่เดิมแล้วเพราะว่ามีการสู่ขวัญผูกข้อไม้ข้อมือกันทั้งหมดแล้ว เราก็อยากปฏิบัติงานที่ใหม่ให้เต็มที่ ตนจึงขอกราบวิงวอนไปถึงท่านนายก เศรษฐา ทวีสิน นายก รมต.ขวัญพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ และผู้ใหญ่ของทั้ง 2 กระทรวง คือ ท่าน รมว.สาธารณสุขและรมว.กระทรวงมหาดไทย ขอได้โปรดพิจารณาช่วยเหลือพวกเราด้วย ขอให้พวกเราทั้งหมดที่ประสงค์ถ่ายโอนได้ถ่ายโอนมาปฏิบัติงานที่สังกัดใหม่ได้โดยด่วนที่สุดด้วย
นายณรงค์ อ่อนสะอาด กรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ รพ.สต.มาขอความเป็นธรรมกรณีที่ได้ถ่ายโอนไปที่ อบจ.ศรีสะเกษ แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะได้ถ่ายโอนมาทำงานที่ อบจ.ศรีสะเกษหรือไม่ ก็ได้สอบถามเรื่องนี้จากผู้รับผิดชอบแล้ว สำหรับกรณีที่มีผู้ได้แจ้งความประสงค์ที่จะถ่ายโอนไปที่ อบจ. ศรีสะเกษ ภายใน 31 ตุลาคมนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะออกคำสั่งรับถ่ายโอนคนกลุ่มนี้มา โดยจะย้อนไปถึง 2 ตุลาคม 2566 ก็คือคนกลุ่มนี้จะได้มาทำงานที่ อบจ.ในฐานะที่เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป แต่กรณีคนที่อยู่ใน 5 หน่วยงานหลัก คือพวกที่มาจากสำนักงานสาธารณ สุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป เป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งจะต้องทำตามระเบียบข้าราชการพลเรือน จะต้องมีการอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน ถ้ารายใดมีการดำเนินการตามขั้นตอนถูกต้อง เขาก็จะดำเนินการออกคำสั่งให้ แต่ถ้ารายได้ยังไม่ถูกต้องก็จะต้องทำให้มันถูกถึงจะดำเนินการให้ ซึ่งตนได้แจ้งให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบแล้ว กรณีที่จะมีการเรียกตัวพยาบาลจากโรงพยาบาลที่ย้ายปฏิบัติหน้าที่ที่ รพ.สต.ให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่เดิมก่อนนั้น เรื่องนี้ถ้าตราบใดยังไม่มีคำสั่งออกมาก็จะต้องเรียกตัวบุคลากรนั้นกลับไปปฏิบัติหน้าที่เดิม ถ้าตราบใดคำสั่งยังไม่ออกมาว่าให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ อบจ.ก็จะต้องกลับไปที่ต้นสังกัดเดิมก่อนสำหรับ 5 หน่วยงานหลักไม่เกี่ยวกับ รพ.สต. ซึ่งในส่วนของ รพ.สต.นั้นจบไปแล้ว ไม่มีปัญหาก็จะมีการออกคำสั่งย้อนหลังไปถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ให้ ก็ให้ไปทำงานที่ รพ.สต.ได้ตามปกติต่อไป