เชียงใหม่-สสว.จับมือ กรมสรรพากร ชวนผู้ประกอบการ SME ขยายตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านมาตรการ VRT
ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวจังหวัดเชียงใหม่
สสว. ร่วมกับ กรมสรรพากร ขับเคลื่อนมาตราการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว (VRT) มุ่งขยายโอกาสให้ SME เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มกิจกรรมนำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นที่แรกของประเทศไทย
วันนี้ (25 ต.ค. 66) ที่ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) และ กรมสรรพากร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมขับเคลื่อนมาตราการ VRT ส่งเสริมผู้ประกอบการ SME เข้าสู่มาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว (VAT Refund for Tourist : VRT) เพื่อพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มโอกาสทางการตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมไปถึงสนับสนุนให้ SME เข้าสู่ระบบ Formalization เพิ่มขึ้นอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ติดหนึ่งใน 5 จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนมากที่สุดของประเทศ และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – สิงหาคม) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 1.7 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 17,450 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสินค้าของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว (VRT) กว่า 300 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 20,015 ราย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เชียงใหม่จะเป็นจังหวัดที่มีผู้ประกอบการ SME มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ แต่มีผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในระบบ VRT ไม่มากนัก ดังนั้น หากผู้ประกอบการ SME ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียน VRT เพิ่มขึ้น จะสร้างโอกาสให้ SME ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเป็นลูกค้าและมีส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคืนภาษีให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ทาง สสว. ได้เลือกจัดที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นที่แรกของประเทศ และจะขยายผลไปยังจังหวัดต่างๆ ให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว (VRT) ของกรรมสรรพากร สามารถยื่นคำขออนุมัติเป็นผู้ประกอบการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว ผ่าน Application “SME Connext” ศูนย์รวมบริการออนไลน์ของ สสว. นอกจากนี้ SME ที่ต้องการพัฒนาระบบ บริหารจัดการธุรกิจให้พร้อมเข้าสู่มาตรการ เช่น ระบบ POS / ERP / AI / Cloud ระบบการเงิน บัญชี ฯลฯ ยังสามารถเข้ารับการสนับสนุนจาก สสว. ในมาตรการ SME ปัง ตังได้คืนหรือการส่งเสริม SME ผ่านผู้ให้บริการทางธุรกิจ (ระบบ BDS หรือ bds.sme.go.th) โดย สสว.อุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมจ่าย (Co-pay) ในแคมเปญ“จ่ายหมื่นคืนเก้าพัน”