บุรีรัมย์-จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ

บุรีรัมย์-จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ

ภาพ-ข่าว:คมกฤช พวงศรีเคน

“พลิกโฉมโรงเรียนสร้างต้นแบบนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียนแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

                เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น.นายศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้แทนเลขาธิการ กพฐ.)เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “พลิกโฉมโรงเรียนสร้างต้นแบบนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียนแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ณ ห้อง Convention Hall โรงแรมแรมอัลวาเรซ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา นักวิชาการศึกษา และ บุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมพิธี
                 นายศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้แทนเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า การจัดประชุมสัมนาในครั้งนี้ นับเป็นการดำเนินการที่บ่งชี้ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้เป็นอย่างดี เป็นการเตรียมเมล็ดพันธุ์ใหม่ด้วยการบ่มเพาะคนไทยให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21” หลักฐานข้อมูลต่าง ๆ จากนิทรรศการผลการดำเนินโครงการชี้ให้เห็นการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ด้วยการเรียนการสอนแบบ Active Learning ทำให้ผู้เรียนมีปัญญาที่เฉียบแหลม (Head) มีทักษะที่เห็นผล (Hand) มีสุขภาพที่แข็งแรง (Health) และมีจิตใจที่งดงาม (Heart) นับเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว เป็นจุดสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมยุคใหม่ที่เป็นยุคของการพัฒนาด้วยการสร้างความมั่งคั่งผ่านกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ให้ผู้เรียนพร้อมที่จะเติบโตไปในโลกที่มีการแข่งขันสูง (Competitive Growth Engines) เพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง การเปลี่ยนแปลงจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2575 ตามเป้าหมายที่วางไว้
                  นายศุภสินฯ กล่าวอีกว่าแนวความคิดสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งปรารถนาที่จะเห็นการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ให้ทั่วถึง หลากหลาย และครอบคลุมการจัดการเรียนการสอนของครูในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการต่อไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนหนึ่งจะเป็นบทเรียนให้กับอีกโรงเรียนหนึ่ง เราเรียกว่า Model หรือแบบอย่างนวัตกรรม เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเพื่อทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีความ แปลกใหม่อย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การผลิต และกระบวนการ ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงหรือเป็นการพัฒนาต่อยอด ล้วนเป็นความคิดริเริ่มที่นำมาประยุกต์ใช้อย่างสัมฤทธิผล ก่อนเกิดการเพิ่มมูลค่า เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนสามารถใช้ทักษะการคิดขั้นสูง คิดอย่างเป็นระบบ คิดอย่างสร้างสรรค์ และนำความรู้หลักการที่ได้จากการเรียนรู้ไปคิดออกแบบนวัตกรรม จะทำให้นักเรียนมีศักยภาพในการคิดค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น คิดริเริ่ม และพัฒนาสิ่งใหม่ เพื่อสนองความต้องการในบริบทของตนเองอยู่เสมอ ดังนั้น นวัตกรรมที่เกิดจากการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ซึ่งพลังสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่ได้จากการคิดของนักเรียนเหล่านี้ หากทำให้เกิดความสัมพันธ์สอดคล้องกับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางมูลค่าเศรษฐกิจของชุมชน จังหวัดต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่เศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค รวมทั้งเป็นที่สนใจของสังคมโลก โดยหากได้มีการพัฒนาอย่างจริงจังต่อเนื่อง จะเป็นการสนับสนุนการสร้างพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Soft Power ของประเทศได้อีกทางด้วย

                   กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การประกวดนวัตกรรม และตัดสินรางวัล ผลงานนวัตกรรมดีเด่น การจัดนิทรรศการทางการศึกษาา การแสดงการสร้างสรรค์นวัตกรรมนักเรียน การมอบรางวัลผลงานนวัตกรรมดีเด่น และเยี่ยมชมนิทรรศการนักเรียนดีเด่น พร้อมรับชมนิทรรศการผลงานทางด้านวิชาการอีกหลากหลายสาขาวิชา

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!