ศรีสะเกษ-สหกรณ์จังหวัด“Kick off”เปิดยุทธการตรวจการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 90 วัน
ภาพ-ข่าว:ศิริเกษ หมายสุข
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าอาคารอำนวยการ สำนักงานสหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายภาณุพงศ์ แสงคำ สหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ ได้เป็นประธานในพิธีปล่อยแถวปฏิบัติการยุทธการตรวจการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 90 วัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การกำกับดูแลสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานสหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ เกิดประสิทธิภาพ สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรดำเนินงานด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนป้องกันปัญหาการเกิดการทุจริต การเกิดข้อบกพร่องจากการดำเนินงานหรือการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งหากเกิดการทุจริตหรือมีข้อบกพร่องก็สามารถแก้ไข หรือระงับยับยั้งได้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ โดยการตรวจการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจะดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธ.ค.2566 ตามยุทธการตรวจการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 90 วัน มีการปล่อยแถวขบวนรถยนต์ปฏิบัติการพร้อมผู้ตรวจการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ออกไปปฏิบัติภารกิจดำเนินการตรวจสอบสหกรณ์ทุกแห่งในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งขบวนผู้ตรวจการสหกรณ์ได้ไปทำการตรวจสอบที่สหกรณ์ออมทรัพย์ รพช.และอบจ.ศรีสะเกษ จำกัด พร้อมทั้งมีการประชุมตรวจสอบโดยผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล โดยมี นายธรรมรัตน์ ปราบงูเหลือม ผอ.กลุ่มตรวจการสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี นายนาวิน ป้องกัน เกษตรและสหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ นางวรรณภา อุดนอก หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ นางนิรชา หลาวทอง นักวิชาการตรวจสอบบัญชีชำนาญการพิเศษ นายสถาพร บุญเหลือ ผช.ผอ.ธกส.จ.ศรีสะเกษ นายจรัสแสง บันไดทอง ประธานสันนิบาตสหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ นายธีรนันท์ คำคาวี ประธานเครือข่ายคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรใน จ.ศรีสะเกษ เข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้
นายธรรมรัตน์ ปราบงูเหลือม ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจการสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ด้วยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีนโยบายขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล เพื่อพัฒนาสหกรณ์ โดยหนึ่งนโยบายที่สำคัญคือ มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสหกรณ์ ซึ่งสำนักงานสหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ ได้กำหนดยุทธการตรวจการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 90 วัน ประจำปีงบประมาณ 2567 ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ยุทธการตรวจการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 90 วัน โดยจะได้ดำเนินการดังนี้ 1. ตรวจการสหกรณ์โดยทีมตรวจสอบระดับจังหวัด จำนวน 11 คณะ เข้าตรวจสอบจำนวน 22 สหกรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นสหกรณ์ที่มีความเสี่ยงตามรายงานการตรวจสอบบัญชีและข้อสังเกตของผู้สอบบัญชี 2. ตรวจการสหกรณ์ตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ จำนวน 1 คณะ เข้าตรวจสอบสหกรณ์ จำนวน 13 แห่ง ซึ่งมีเป้าหมายเป็นสหกรณ์ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริต สหกรณ์ที่มีข้อร้องเรียนและสหกรณ์ที่มีความเสี่ยงจะเกิดข้อบกพร่อง 3. การตรวจการสหกรณ์โดยผู้ตรวจการสหกรณ์ จำนวน 89 แห่ง 4. การตรวจการกลุ่มเกษตรกร โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่นายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรได้มอบหมาย จำนวน 46 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นการกำกับและคุ้มครองระบบสหกรณ์ให้เข็มแข็งต่อไป
นายสุนทร แพงศรี ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ รพช.และ อบจ.ศรีสะเกษ จำกัด กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณท่านภาณุพงศ์ แสงคำ สหกรณ์ จ.ศรีสะเกษซึ่งท่านได้ทำโครงการนี้ขึ้นมาเป็นโครงการที่ดีมากเพื่อที่จะได้ตรวจสอบความบกพร่องของสหกรณ์เราเพื่อนำไปสู่การทำให้เป็นสหกรณ์สีขาว โปร่งใส มีธรรมาภิบาลและเพื่อเป็นการนำไปสู่ในการอยู่ดีกินดีของพี่น้องสมาชิกไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นมาในสหกรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากในนามของ สหกรณ์ออมทรัพย์ รพช.และ อบจ.ศรีสะเกษ จำกัด ขอขอบคุณท่านสหกรณ์จังหวัดเป็นอย่างสูงที่ท่านได้ทำโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งสหกรณ์ของเราตระหนักดีว่า พยายามแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนหนึ่งท่านก็ได้ให้หัวหน้ากลุ่มได้มาประชุมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ รพช.และอบจ.ศรีสะเกษ จำกัด เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งเราก็ได้ทำตามคำแนะนำคำท้วงติงของท่านตลอดมา ซึ่งในสหกรณ์ของเรา ก็ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้ก็ต้องขอขอบคุณท่านไว้อีกครั้งหนึ่ง
นายภาณุพงศ์ แสงคำ สหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ยุทธการตรวจการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 90 วัน มีเป้าหมายไม่มีการทุจริต ไม่มีข้อบกพร่อง ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล อันเป็นการสร้างคุณค่าให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในองค์กรสหกรณ์ สมาชิก คณะกรรมการดำเนินการ และฝ่ายจัดการ ที่เป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบ กำกับ การดำเนินงานของสหกรณ์ โดยตามยุทธการตรวจการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 90 วัน กำหนดวันที่ 8 พ.ย.2566 เป็นวัน “Kick off” ปฏิบัติการปกป้อง ป้องกัน ปราบปรามทุจริตในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีวิธีการดำเนินการตรวจการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้ครบทุกแห่ง รวม 135 แห่ง อันจะส่งผลให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรใน จ.ศรีสะเกษ มีความเข้มแข็ง เติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนสมาชิกมีความอยู่ดี กินดี มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 – 2570) แผนพัฒนาการสหกรณ์ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2566 – 2570) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580)
ตนขอฝากถึงสมาชิกสหกรณ์ทุกแห่งในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าของก็ให้เข้าไปช่วยกันสอดส่องดูแลหรือว่าติดตามการทำงานของสหกรณ์ ในส่วนของคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการก็ขอให้ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ เรียกว่ากำหนดนโยบายที่ดี และฝ่ายจัดการก็มีระบบควบคุมภายในดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไร้การทุจริต