ศรีสะเกษ-ผู้แทนวัฒนธรรม 10 ชาติมอบโล่แต่งตั้งให้”พระครูโกศลสิกขกิจ”เป็นผู้ประกาศสันติภาพโลก
ภาพ-ข่าว ศิริเกษ หมายสุข
“พร้อมทั้งลงนาม MOU เพื่อการร่วมกันในการแลกเปลี่ยนศิลปพื้นบ้านนานาชาติ”
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาทมวัดไพรพัฒนา ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ศ.ดร.อัจฉรา ภาณุรัตน์ ประธานกรรมการเทศกาลศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติแห่งประเทศไทย (THAILAND IFF) ได้นำคณะผู้แทนวัฒนธรรมจำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศฮังการี่ เกาหลี บัลกาเรีย รัสเชีย บัลแกเรีย อินเดีย อินโดนีเชีย กัมพูชา เนปาล และไทย มาร่วมประชุมกันและได้ร่วมกันลงนาม MOU เพื่อการร่วมกันในการแลกเปลี่ยนศิลปพื้นบ้านนานาชาติ และยังมีการลงนาม MOU ที่จะร่วมมือกันทางด้านการศึกษา เนื่องจาก PROF.DR.MIKLOS BANHIDI หัวหน้าคณะผู้แทนวัฒนธรรมจากประเทศฮังการี่ เป็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยของประเทศฮังการี่ จากนั้น ตัวแทนของผู้แทนวัฒนธรรม 10 ประเทศ ได้มอบโล่แต่งตั้งให้พระครูโกศลสิกขกิจเป็นผู้ประกาศสันติภาพโลก
โดยมี จ่าเอกสมควร สิงห์คำ นายอำเภอภูสิงห์ เป็นตัวแทนของ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ในการร่วมลงนามในครั้งนี้ด้วย โดยพระครูโกศลสิกขกิจ ได้มอบวัตถุมงคลหลวงปู่สรวง และใบประกาศเกียรติคุณบัตรเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณที่คณะผู้แทนทั้ง 10 ประเทศ ได้มาร่วมกิจกรรมการแสดงเทศกาลศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติแห่งประเทศไทย:วัดไพรพัฒนา ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดงานนี้ขึ้นในระหว่างที่ 11-12 พ.ย. 2566 โดยมี นายสำเร็จ ไพรบึง นายก อบต.ไพรพัฒนา พร้อมด้วย นายสมยศ พันธ์มา รอง ผอ.วิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวง นำคณะกรรมการมูลนิธิหลวงปู่สรวง คณะครู น.ศ.วิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา มาร่วมพิธีในครั้งนี้
ศ.ดร.อัจฉรา ภาณุรัตน์ ประธานกรรมการเทศกาลศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติแห่งประเทศไทย (THAILAND IFF) กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เริ่มต้นก็คือตักบาตร เป็นการสอนให้เขารู้ว่าการให้ทานทำให้เราเกิดความสุขและความสุขอันนั้นมันจะพัฒนาไปสู่ความสงบ สันติภาพ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่เราได้พัฒนา วัฒนธรรม ศาสนาเข้าสู่สันติภาพ เพราะปัจจุบันทุกท่านคงทราบแล้วว่ามันวุ่นวายมากในประเทศทั่วโลก มันทำให้ทุกคนเกิดความทุกข์และไม่มีที่ใดที่จะสามารถขจัดความทุกข์ได้ การใช้วัฒนธรรมมาบูรณาการกับศาสนา โดยอาคันตุกะศิลปินจากประเทศฮังการี่ เกาหลี บัลกาเรีย รัสเซีย บัลแกเรีย อินเดีย อินโดนีเชีย กัมพูชา และเนปาล ได้รวมตัวกันใส่บาตรพระเกือบ 100 รูป จากนั้นเขาก็ออกมานั่งฟังการแสดงธรรมะ ในบางคำแม้ว่าเป็นภาษาที่ฟังไม่ออก แต่คลื่นเสียงทำให้จิตเราสงบเพราะเป็นคลื่นเสียงภาษาอันศักดิ์สิทธิ์ของทุกศาสนาจะสามารถทำให้เรามีความสุข หลังจากนั้น ศิลปินทุกท่านก็จะถ่ายรูปที่มณฑปหลวงปู่สรวง ซึ่งคราวที่แล้วได้เดินทางมาจัดการประกาศให้มณฑปและสรีระสังขารของหลวงปู่สรวง เป็นที่กราบไหว้บูชาของ 2 ประ เทศนี้ ให้เป็นมรดกล้ำค่าสู่สาธารณะชนโลก แล้วจากนั้นทุกคนก็ได้ภาพที่เป็นแบคกราวด์อันนี้เป็นมณฑปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนจะต้องเคารพบูชา และเขาก็จะนำกลับไปที่บ้านเขา
ศ.ดร.อัจฉรา ภาณุรัตน์ กล่าวต่อไปว่า จากนั้นเราก็เริ่มพิธีเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติปราชญ์ของเราก็คือ เจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา พระครูโกศลสิกขกิจ ซึ่งท่านเป็นพระผู้ประเสริฐ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่สรวง และท่านก็พยายามสร้างทุกอย่างที่ใช้ชื่อหลวงปู่สรวง ให้จารึกอยู่ในแผ่นดินทั้งประเทศไทย และกัมพูชา เพราะฉะนั้นกิจกรรมของท่านจึงมีชาวกัมพูชามาเกินครึ่งหนึ่ง ในวันนี้ก็ได้มีมูลนิธิส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมสุรินทร์ และกิจกรรมของเทศกาลการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จัดมาทั้งปีนี้เป็นปีที่ 20 แล้ว ในปีนี้มีผู้ลงทะเบียนมา 719 คน จาก 22 ประเทศ ด้วยภูมิศาสตร์แล้วก็วัฒนธรรมของแต่ละหมู่บ้านที่เราจะเข้าถึงหมู่บ้านสันติภาพได้ ส่วนใหญ่จะมีรีสอร์ทจำกัด เราก็เลยระบุไว้ว่าสัปดาห์ละ 100 คน ที่จะเดินทางมาได้ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ก็เป็นสัปดาห์ที่ 4 สัปดาห์แรกเราไปที่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง สัปดาห์ที่ 2 สมุย จ.สุราษฎร์ธานี สัปดาห์ที่ 3 จ.สมุทรปราการ พัทยา และ จ.ปราจีนบุรี และสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ 4 ก็เริ่มที่ อ.ละหารทราย หมู่บ้านช้าง และจบที่วัดไพรพัฒนา จ.ศรีสะเกษ เป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ ที่พระครูโกศลสิกขกิจได้มอบความสุขให้ทุกคน เพื่อให้ได้สัมผัสให้รู้ว่าที่นี่เท่านั้นที่ให้ความสุข ที่นี่คือตัวแทนของพุทธศาสนาและที่นี่เป็นแบบอย่างของการจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างความเป็นสากล แต่ไม่ได้ทิ้งความเป็นท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ลดความแตกต่างของคนทั้งหมด ให้ทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ศ.ดร.อัจฉรา ภาณุรัตน์ ยังกล่าวด้วยว่า จากนั้นทางมูลนิธิและอาคันตุกะศิลปินก็ได้อ่านสดุดีชีวประวัติและผลงานของพระครูโกศลสิกขกิจ รวมทั้งชุมชนไพรพัฒนาที่ทุกคนกล่าวถึงว่า อาสาสมัครมากมายทั้งครู ทั้งนักเรียน ทั้งชาวบ้าน ต่างก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือมาเตรียมกิจกรรม ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้สากล ความคิดสากล ซึ่งเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันนี้เป็นความดีงามที่หลวงปู่สรวง และ พระครูโกศลสิกขกิจได้มีอิทธิพล หรือมีพาวเวอร์ เรียกว่าซอฟพาวเวอร์ สำหรับทำให้ชายแดนตรงนี้ไม่ใช่ชายแดนที่แยกกันโดยเด็ดขาด แต่เป็นชายแดนระหว่างพี่และน้องกัน
ผู้แทนวัฒนธรรมทั้ง 10 ประเทศจึงได้มอบโล่แต่งตั้งให้พระครูโกศลสิกขกิจเป็นผู้ประกาศสันติภาพโลก ต่อไปนี้พระครูโกศลสิกขกิจ นอกจากจะเผยแผ่พุทธศาสนาแล้ว ท่านจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการเป็นแบบอย่างของผู้ประกาศสันติภาพโลก เพื่อให้ความหมายแก่คนทั้งโลกที่ไม่เข้าใจคำว่าสันติภาพคืออะไร จะต้องมาถามพระครูโกศลสิกขกิจ และสุดท้ายก็มีกิจกรรมที่ให้อาคันตุกะศิลปินได้แลกเปลี่ยน เขาก็เริ่มต้นที่ประเทศบัลกาเรีย ที่ได้กล่าวถึงความเรียกร้องหรือความต้องการที่จะให้โลกนี้สงบสุข ต่อมาก็ประเทศอินเดีย และประเทศฮังการี พระครูโกศลสิกขกิจจึงสรุปรวมว่า สันติภาพในพระพุทธศาสนามีทุกช่วงทำนองของการประพฤติปฏิบัติในวินัยของพระพุทธศาสนานั่นเอง เพราะฉะนั้นเราโชคดีที่เราเป็นคนไทย และเราอยู่ในวิถีไทย วิถีพุทธ เราได้สัมผัสตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่คลอดมาแล้วว่า ความสงบสุข หรือคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างไร ก็ได้ขอฝากประชาชนชาวไทยทุกคนว่ากิจกรรมวันนี้และวัดไพรพัฒนานี้ เป็นวัดแห่งสันติสุข