อุตรดิตถ์-ประชุมร่วมรับฟังความคิดเห็นการประชาคมการก่อสร้างโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก
ภาพ-ข่าว:พูลชัย ราชประสิทธิ์
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 15 มกราคม 2567 ณ ศาลาการเปรียญวัดเจดีย์คีรีวิหาร หมู่ที่ 9 ต.ฝายหลวง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ จากการนำของนายศิวัช ฟูบินทร์ นายอำเภอลับแล พร้อมด้วยนายรวี เล็กอุทัย สส.พรรคเพื่อไทย เขต 3 และนายคำนวณ เหมาะประสิทธิ์ อดีต สว.ที่เป็นท่านแรกที่ให้การผลักดันให้เกิดเขื่อนทดน้ำผาจุก ตลอดจนเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยให้การต้อนรับ
นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผวจ. พร้อมคณะที่เดินทางมาเป็นประธานในการประชุมและร่วมรับฟังความคิดเห็นการประชาคมตามที่รัฐบาลโดยกรมชลประทานได้ทำการก่อสร้างโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุกเพื่อการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำน่านพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์และใกล้เคียงตั้งแต่ปี 2552 คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาเป็นคลองส่งน้ำและกระจายน้ำสู่พื้นที่ชลประทานอำเภอลับแลตอนใต้ อ.เมือง อ.ตรอน อ.พิชัย ต.ดงคู่ อ.ศรีสัชนาลัย โดยมีแผนส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานรวมกว่าสองแสนไร่
โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุกมีการส่งน้ำด้วยระบบแรงโน้มถ่วงของโลก คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา กม.0 – กม. 60 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งแนวคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา กม. 0 – กม. 32 ผ่าน ต.ผาจุก ต.งิ้วงาม ต.น้ำริด ต.ท่าเสา ต.ฝ่ายหลวง และต.ชัยจุมพล ไม่มีคลองส่งน้ำเนื่องจากสภาพพื้นที่สูงจึงมีเพียงจุดปล่อยน้ำเท่านั้น ทำให้พื้นที่สองฝั่งคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา จาก กม.0 – กม.32ได้รับประโยชน์น้อยมาก โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ลับแลตอนบนซึ่งประกอบด้วยเทศบาลตำบลหัวดง องค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูล องค์การบริหารส่วนตำบลฝ่ายหลวง และเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ไม่ได้ใช้น้ำหรือประโยชน์ใดๆ จากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาเขื่อนผาจุกแต่อย่างใด
ประชาชนพื้นที่ อ.ลับแลตอนบนมีวิถีชีวิตการทำสวนผลไม้เศรษฐกิจ พื้นที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การเกษตรหมุนเวียนที่ราบเชิงเขา เช่น ทุเรียน ลองกอง ลางสาด หมาก หอมแดง กาแฟ เป็นต้น และมีชุมชนอาศัยค่อนข้างหนาแน่น ลักษณะพื้นที่ลาดเอียงเชื่อมโยงทุ่งราบขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่อำเภอลับแลตอนใต้เทือกเขาพื้นที่ลับแลตอนบนเป็นลักษณะพื้นที่ต้นน้ำจึงมีลำห้วยต้นน้ำหลายสายที่สำคัญเช่น ห้วยแม่พลู ห้วยคำบิ ห้วยปู่เจ้า ไหลรวมกันเป็นคลองแม่พร่องซึ่งถือเป็นสายเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ และมีแหล่งเก็บน้ำสำคัญคือหนองนาเกลือซึ่งมีความสำคัญในด้านน้ำอุปโภคของชุมชน เนื่องจากสภาพที่เปลี่ยนไปทำให้พื้นที่ลับแลตอนบนประสบปัญหาขาดน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงพืชสวนการทำเกษตรในฤดูแล้ง การนำน้ำเพื่อผลิตน้ำประปา นับวันเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น
ซึ่งการแก้ไขปัญหาขณะนี้ได้มีการสร้างฝ่ายชะลอกักเก็บน้ำในพื้นที่เพื่อลดความรุนแรงของปัญหา การนำน้ำจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาเข้าสู่พื้นที่อำเภอลับแลตอนบน จึงเป็นการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ ส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านเกษตรของราษฎรคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาได้ก่อสร้างผ่านพื้นที่รอยต่อพื้นที่ หมู่ 4 ตำบลฝายหลวงกับตำบลท่าเสา บริเวณห้วยมะโอ ซึ่งได้มีประชุมร่วมกันของผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และประชาชนพื้นที่อำเภอลับแลตอนบนหลายครั้งขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายชุมชนคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา เพื่อขอรับน้ำจากคลองส่งน้ำเขื่อนผาจุก ซึ่งมีความสูงต่างกันพอสมควรและมีระยะการส่งน้ำไกล และเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ทางอำเภอลับแลได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนำน้ำคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาสู่พื้นที่อำเภอลับแล ตอนบนได้ทำงานขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานกรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ซึ่งได้ทำการลงพื้นที่สำรวจพื้นที่จริงในหลายแนวทางเพื่อประโยชน์สูงสุดและกระทบต่อราษฎรน้อยที่สุด
ต่อมาคณะทำงานๆ โดยการนำของนายชูชาติ จันทร์วัฒนพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง ได้ยื่นเรื่องขอรับการสนับสนุน ต่อร้อยเอกธรรมนัส พรมเผ่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เดินทางมาตรวจราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งได้เร่งรัดหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ดำเนินการสำรวจดำเนินการตามความต้องการของราษฎร และทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผาจุกได้ร่วมกับคณะทำงานฯ ได้ลงสำรวจพื้นที่จริงจนได้ข้อสรุปแนวทางจัดทำโครงการฯ ที่ชัดเจน
การประชาคมวันนี้ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผาจุกได้ประสานให้องค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวงเป็นตัวแทนในการทำประชาคมการจัดทำโครงการโรงสูบฯและท่อส่งน้ำขนาด 24 นิ้ว จากจุดพักน้ำห้วยมะโอคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝังขวาฯ เขื่อนผาจุก วางท่อไปตามแนวถนนลงจุดพักน้ำคลองแม่พร่องพื้นที่ตำบลแม่พูล ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชากรได้เป็นอย่างดี