สตูล-ปปช.ลงตรวจสอบปศุสัตว์โครงการ”โคบาลชายแดนใต้”

สตูล-ปปช.ลงตรวจสอบปศุสัตว์โครงการ”โคบาลชายแดนใต้”

ภาพ-ข่าว:ชิดชนก พุดทอง

             นายธนกฤต เลิศวิริยวรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.สตูลพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ภาค9 เดินทางไปติดตามรับทราบข้อมูล จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อเกี่ยวกับโครงการโคบาลชายแดนใต้(จ.สตูล) หลังจากโครงการดังกล่าวมีปัญหาในจ.ปัตตานี และอีกหลายจังหวัด ซึ่งจ.สตูลเองยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียน แต่ก็ได้เฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปรับฟังข้อมูลคำชี้แจงถึงโครงการดังกล่าว จากนายประสงค์ เรืองสวัสดิ์ หัวหน้าสำนักงานปศุสัตว์จ.สตูลและเจ้าหน้าที่ ที่สำนักงานปศุสัตว์จ.สตูล
              โดยทางปศุสัตว์จ.สตูลได้แจ้งว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่สร้างขึ้นภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจ ฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ ปศุสัตว์ ศอ.บต.และกระทรวงมหาดไทย แต่โครงการดังกล่าวมีบริษัทเอกชน(จัดหาโค)นำโคลงมาก่อนที่โครงการเริ่ม โดยนำมาให้เกษตรกรก่อนเริ่มโครงการประมาณ 1 ปี ซึ่งทางปศุสัตว์จ.สตูลเริ่มเซ็นต์สัญญากับกลุ่มในเดือน ก.ค.66 แต่ทางเกษตรกรรับโคจากเอกชนมาเลี้ยงไว้ก่อนแล้วในพื้นที่เกือบ 1พันตัว ซึ่งจ.สตูลได้โควตามาทั้งหมด 20 กลุ่ม หลังจากปศุสัตว์จ.สตูลได้รับคู่มือเกณฑ์การคัดเลือกต่างๆแล้วปรากฏว่ามีเข้าเกณฑ์ที่เข้าโครงการดังกล่าวเพียง 8 กลุ่มคือในพื้นที่อ.ละงู 7 กลุ่มและอ.มะนัง 1 กลุ่มๆละ 50 ตัว ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้งบประมาณในการบริหารกลุ่มซึ่งเป็นเงินกู้ที่ไม่มีดอกเบี้ยจำนวน1,550,000 บาท ระยะเวลาคืน 7 ปีและเกษตรกรจะเริ่มชำระหนี้ได้ในปีที่ 4 ของโครงการ ซึ่งกลุ่มที่ได้เข้าโครงการเป็นไปตามหลักเกณฑ์มีการทำสัญญาเรียบร้อยรัดกุมทุกกลุ่ม และแต่ละกลุ่มไม่พบว่าโคที่ได้รับมีปัญหา ทั้ง 8 กลุ่มไม่มีการตาย โคแข็งแรงได้ลูกโคออกมาแล้วทุกกลุ่มและโคตั้งท้องอีกหลายตัว
               ทาง ปปช.สตูลและปปช.ภาค 9 ได้สอบถามเกี่ยวกับเกษตรกรที่ไม่เข้าเกณฑ์ ซึ่งทางปศุสัตว์แจ้งว่า ทางปศุสัตว์ดำเนินการตามคู่มือที่ได้รับมา กลุ่มที่เข้าโครงการต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์อีก 12 กลุ่มที่ไม่เข้าเกณฑ์ติดขัดเรื่องปัญหาต่างๆเช่นปัญหาที่ดิน ปัญหาการรวมกลุ่มไม่ถึง 10 คน ที่ดินอยู่ในเขตป่า ซึ่งเราไม่สามารถให้ผ่านได้ แต่สำหรับโคนั้นปศุสัตว์ไม่ได้เป็นคนจัดหา แต่เกษตรกรตกลงซื้อกับบริษัทขายโคโดยตรง ปศุสัตว์เพียงแต่ไปดูแลให้ในเรื่องของสัตว์เลี้ยงเท่านั้น ซึ่งในจำนวนโค 400 ตัวที่กลุ่มได้ไปตอนนี้ได้ลูกกลับมากว่า 100 ตัวแล้ว โคที่มีปัญหาน่าจะไม่ใช่โคที่เข้าในโครงการ เนื่องจากทางเอกชนมีการส่งโคมาให้เกษตรกรเลี้ยงตั้งแต่ปี 65 แล้ว ส่งมาเลี้ยงก่อนที่ทางปศุสัตว์จังหวัดจะได้รับโครงการมาก่อนด้วยซ้ำ

              หลังจากรับฟังข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปยังพื้นที่กลุ่มเกษตรกรที่เข้าโครงการในพื้นที่ต.น้ำผุด อ.ละงู ซึ่งมีเกษตรกรหลายกลุ่มไปรวมตัวกันที่นั้น โดยกลุ่มที่ต.น้ำผุดที่เข้าโครงการ มีคอกโคตามกำหนดตามคู่มือระบุ มีแปลงหญ้า มีโค และมีการแบ่งเลี้ยงโคกันไปตามสมาชิกกลุ่ม
             นายธนกฤต เลิศวิริยวรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.สตูล กล่าวว่าจากที่มารับฟังวันนี้หน่วยงานที่เริ่มต้นคือศอ.บต.ที่จัดหางบมาช่วยเหลือประชาชน ประเด็นปัญหาคือเกษตรกรบางกลุ่มรับโคไปเลี้ยงแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าโครงการได้เนื่องจากติดขัดข้อระเบียบต่างๆซึ่งทางปศุสัตว์ไม่สามารถนำเข้าโครงการได้ เท่าที่ฟังในส่วนของจ.สตูลโคที่เข้าโครงการไม่มีปัญหาเหมือนจ.ปัตตานี แต่ทางปปช.จ.สตูลก็จะส่งข้อมูลทั้งหมดเข้าส่วนกลางเพื่อตรวจสอบว่าหน่วยงานไหนที่ไม่โปร่งใส่ ส่วนของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอาจรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งไปทางจังหวัดซึ่งมหาดไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมรับผิดชอบโครงการนี้ว่ามีวิธีช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างไรบ้างต่อไป

               จากนายประสงค์ เรืองสวัสดิ์ หัวหน้าสำนักงานปศุสัตว์จ.สตูล เรารับโคเข้าโครงการตั้งแต่ก.ค.66 แต่โคนำมาเลี้ยงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว 1ปีเพราะทางเกษตรกรไปทำสัญญารับโคมาจากเอกชน ตอนนี้ 8 กลุ่มที่เข้าตามหลักเกณฑ์ ซึ่งกลุ่มทั้ง 8 ไม่มีปัญหาเพราะเป็นโคที่เขาอยากได้ ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เข้าโครงการ เพราะเมื่อเราประชุมแล้วแจ้งว่าทุกกลุ่มสมาชิกทุกคนต้องมีหนี้ เขาก็จะถอนตัวไม่ยอมเป็นหนี้ โคที่เข้ากลุ่มทุกตัวตรงตามสเปค เพราะเรามีการตรวจรับตรวจวัดขนาดน้ำหนัก ส่วนกลุ่มที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์เขาก็อยากได้ แต่เราทำให้ไม่ได้ โควตาเขาให้มา 20 กลุ่มแต่เราไม่จำเป็นต้องรับทั้งหมด รับตามเกณฑ์เท่านั้นเพราะบางกลุ่มเขาไม่พร้อมที่จะเป็นหนี้
              นายบรรจบ ชูแก้ว(ใส่หมวก) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคบ้านหนองโต๊ะหวัง ม.6 ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่าหลังจากได้โคมาในกลุ่มมีการแบ่งกันเลี้ยงโดยการจับฉลาก ตนได้ไปเลี้ยง 5 ตัวไปเลี้ยงในสวน ตอนนี้ได้ลูกมาแล้ว 2 ตัวและกำลังท้องอีก โครงการนี้ถือว่าดีเกษตรกรใช้เงินกลับภายใน 7 ปี 4ปีแรกเราใช้เงินไป 25 เปอร์เซ็นต์เราก็อยู่ได้ ในช่วงแรกเราอาจได้ลูกน้อย แต่ปีที่3-4 ก็จะเริ่มได้มากขึ้นเพราะลูกที่ได้ปีแรกกลายมาเป็นแม่พันธุ์แล้ว คิดว่าคุ้มเพราะถือว่าแทบจะไม่ลงทุนอะไร เราก็แค่ดูแลให้ดีตอนนี้ที่ได้ไปได้ลูกไปแล้วก็หลายคน บางคนก็ยังไม่ได้ลูก แต่ที่อยู่ไม่ได้ตอนนี้คือราคาโคเป็นตัวราคาถูก แต่ราคาเนื้อยังแพงเหมือนเดิม

               ส่วนนายภูเมศ คงชู ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนางแก้วโคขุน ต.น้ำผุด อ.ละงู กล่าวว่า ตนได้โคจากบริษัทเมื่อวันที่ 3 ส.ค.65 ปศุสัตว์อนุมัติ 9ส.ค. 66 รับโคมาก่อนเข้าโครงการ 1ปี วัวที่รับมาก็สมบูรณ์ดีทุกตัวตามเกณฑ์ทั้งความสูงน้ำหนัก ซึ่งหน่วยงานที่ประสานเข้ามาตั้งแต่ตอนแรกคือศอ.บต.ซึ่งตนก็อยากได้โคจึงได้เข้าร่วม หลังจากตรวจสอบพื้นที่โคเข้าโครงการแล้ว เจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปยังพื้นที่โคที่ไม่ได้เข้าโครงการ ซึ่งพบว่าโคที่ไม่เข้าโครงการมีการปล่อยเลี้ยงตามสวนปาล์มน้ำมัน และโคมีสภาพผอมไม่สมบูรณ์ โดยเจ้าของโคบอกว่าตั้งแต่ได้โคมา เขาเลี้ยงโคตามปกติไม่มีโคตาย ตนแค่ได้โคจากบริษัทเอกชนมาเลี้ยงยังไม่มีการทำสัญญาใดๆ และตนเข้าโครงการไม่ได้เพราะติดขัดเรื่องที่ดิน และโคที่เลี้ยงยังไม่ได้ลูกเพราะตนไม่ได้ผสมพันธุ์ ตอนนี้รอบริษัทติดต่อมาว่าจะเอาอย่างไรหากเอาโคคืนตนก็ขอค่าเลี้ยงดู1 ปีด้วย

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!