อุบลราชธานี-ม.อุบลฯ เสริมกระบวนการเรียนรู้ “ค่ายการยาง ม.อุบลฯ” ครั้งที่ 10
ภาพ-ข่าว:ทีมข่าวจังหวัดอุบลราชธานี
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี จัดโครงการ “ค่ายการยาง ม.อุบลฯ” ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 2 – 4 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ณ คณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้หัวข้อ “Smart Rubber and Polymer Upcycling Camp” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ โดยมี ดร.สมปอง เวฬุวนาธร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวิชาชีพ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นประธานเปิด และ นางสาวเพ็ญพิชชา หมื่นพรหม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าโครงการ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์
การจัดโครงการครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้และเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ทางด้าน เทคโนโลยียางและด้านวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจ และถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ นักเรียน ในการศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนต่าง ๆ ที่ผ่านการคัดเลือก 58 คน จากผู้ที่สนใจกว่า 130 คน และเมื่อวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 มีพิธีเปิดค่ายอย่างเป็นทางการ ณ ห้องประชุม sc138 อาคารวิจัย คณะวิทยาศาสตร์
ดร.ศันศนีย์ ศรีจันทร์ ประธานหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณมูลนิธิจุมภฏ -พันธุ์ทิพย์ ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดโครงการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยนักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์เป็นผู้เขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิจุมภฏ -พันธุ์ทิพย์ เนื่องจากโครงการดังกล่าว ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่ให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมและการหาประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง ตลอดจนการฝึกฝนการเป็นผู้นำในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์การเรียนและการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยส่งต่อให้น้องๆ นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมเสริมหลักสูตรและกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติทุกด้าน สำหรับน้อง ๆ ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ
โดยในวันที่ 1 นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รู้ถึงแหล่งที่มาของพอลิเมอร์ รู้ถึงกระบวนการผลิตยางล้อ และได้เข้าชมเครื่องมือทดสอบสมบัติของยางและพอลิเมอร์ วันที่ 2 นักเรียนจะได้เข้าฐานกิจกรรมภาคปฏิบัติ เช่น การบดผสมยางและสารเคมีการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำยาง รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่ใช้ในการขึ้นรูปพลาสติก โดยในภาคบ่ายจะได้ร่วมกันสร้างสรรผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือทิ้ง และในวันสุดท้ายของโครงการ นักเรียนจะได้ฝึกการนำเสนอผลงาน การตอบคำถามโดยมีอาจารย์จากสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ ซึ่งนักเรียนจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์และสามารถต่อยอดองค์ความรู้สำหรับการเรียนในอนาคตได้