สิงห์บุรี-พช.ชวนหิ้วปิ่นโต เอามื้อสามัคคี สืบสานวิถีชาวโคก หนอง นาฯ
ภาพ-ข่าว:จิระแมน ขำฉา
Cr:: สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองสิงห์บุรี @พช.สิงห์บุรี
/ นางสาวรัฐณีกร ข้องหลิม นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
“พัฒนาชุมชนชนเมืองสิงห์บุรี มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ สู่ความยั่งยืน ครั้งที่ 3”
วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08.00 น.นายณัฏฐ์กร ศิริผ่องแผ้ว นายอำเภอเมืองสิงห์บุรี ประธานเปิดกิจกรรม “ชวนหิ้วปิ่นโต เอามื้อสามัคคี สืบสานวิถีชาวโคก หนอง นา พัฒนาชุมชนเมืองสิงห์บุรี สู่ความยั่งยืน” (ครั้งที่ 3) โดยมี นางการะเกด พึ่งนาม ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นางสาวผ่องพรรณ บรรณทอง ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นางสาวสาวิตรี อุดมพันธ์ พัฒนาการอำเภอเมืองสิงห์บุรี นายยรรยง นาคมา สาธารณสุขอำเภอเมืองสิงห์บุรี นายวุฒิพงศ์ ศรีรัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพกรวม นายสุเทพ พรหมผล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโพกรวม นายไพศาล ศรีไพโรจน์ กำนันตำบลโพกรวม ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ตำบลโพกรวม ตำบลหัวไผ่ ตำบลโพธิ์ชัย และเครือข่าย โคก หนอง นา อำเภอเมืองสิงห์บุรี เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ ร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” แปลงนางสาวสมคิด โพธิ์เจริญ บ้านไร่กล้วย หมู่ที่ 6 ตำบลโพกรวม อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
นายณัฏฐ์กร ศิริผ่องแผ้ว นายอำเภอเมืองสิงห์บุรี กล่าวว่า “ตำบลโพกรวม มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม สองข้างทางมีทั้งต้นกล้วย ต้นมะม่วงถนนค่อนข้างสวยงาม ถือว่าเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ทำให้ก่อเกิดเส้น ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน สามารถให้คนในชุมชนพืชผลไปประกอบอาหารได้ มันเป็นสิ่งที่เริ่มต้นได้ง่าย ๆ และ การทำ โคก หนอง นา ต้นรากเกิดจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้ ให้กับคนไทยและทั่วโลก รวมถึง UN ก็ให้การยอมรับกับหลักปรัชญานี้ เพราะฉะนั้นคนไทยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงดูแล คอยห่วงใย มาอย่างยาวนาน และพระองค์ท่านได้คิดค้นหลักปรัชญานี้มาก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 สมัยนั้นคนยังไม่ให้ความสำคัญแต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้น ทั่วโลกเริ่มกลับมามองเห็นถึงความสำคัญ ว่า แนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 สามารถช่วยดำรงชีวิตของคนได้อย่างแท้จริง
ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษและเราก็สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทย เพราะฉะนั้นการทำเกษตรมันไม่ไกลจากตัวเรา พื้นฐานของทุกคนมีอยู่แล้วอยู่ที่ว่าใครจะเริ่มได้ก่อน เริ่มเร็วก็เห็นผลเร็ว เหมือนกับเจ้าของแปลงคุณสมคิด ที่ไม่เคยทำเกษตรมาก่อน แต่เมื่อได้ลงใจลองทำ ใส่ใจกับทุกขั้นตอนการทำเกษตร ผลผลิตก็จะงอกเงยออกมาสิ่งที่ดีไปกว่านั้นคือการได้กลับมาอยู่กับครอบครัวได้กลับมาดูบุพการีได้นำพืชผลทางอาหารที่เราได้ปลูกเองมาให้ครอบครัวได้กิน ถือว่าได้ประสบผลสำเร็จในอีกขั้น ถึงแม้จะเริ่มทำมาได้แค่ไม่กี่ปี เราก็นำวิถีชีวิตตามแบบฉบับของเรา ความพอเพียงของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตัวเรา สุขแบบคนรวยมันเรื่องของเขา สุขของเราแค่ไม่เป็นหนี้เป็นสิน มีร่างกายให้แข็งแรงก็พอแล้ว
การทำโคก หนอง นา ต้องลงแรง เหนื่อย ต้องอดทน ต้องไม่ขี้เกียจ ต้องขยัน นั่นคือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การที่คุณสมคิดเจ้าของแปลง สามารถทำโคก หนอง นา ของตัวเอง เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมานั้น เพราะต้องใช้เวลาและความอุตสาหะ เมื่อเกิดผลผลิตออกมาแล้ว ก็สามารถนำไปประกอบอาชีพขาย มันเป็นความสุขภายในครอบครัว เราได้ความอบอุ่นกลับคืนมา และยังสามารถเป็นเกราะป้องกันปัญหายาเสพติดให้กับเยาชนได้อีกด้วย ซึ่งตัวผมเองไปอยู่มาหลายที่แล้ว แต่จังหวัดสิงห์บุรีนั้น มีน้ำและดินที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ ถ้าไปจังหวัดอื่นช่วงนี้คือแห้งแล้งแล้ว จังหวัดสิงห์บุรีจึงมีความพร้อม ดั่งคำนิยามที่ว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว สุดท้ายนี้อยากสนับสนุนให้ปลูกพืชผักปลอดภัย เรากินก็สบายใจ ขายให้คนอื่นกินก็ปลอดภัย เมืองเราก็จะน่าอยู่ต่อไป”
นางสาวสมคิด โพธิ์เจริญ เจ้าของแปลง ได้กล่าวขอบคุณทุกท่าน ๆ ที่ได้มาเยี่ยมชมโคก หนอง นา โมเดล ที่นี่ ได้เห็นถึงความตั้งใจของพวกเราที่ได้สืบสานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนมีผลผลิตออกมาที่ได้ตามคาดหวัง ได้กินได้แจกได้จ่าย และสิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเรา 3 คนพี่น้อง คนมุ่งหวังคือเรื่องสุขภาพได้กินผักปลอดภัย เพราะโรคปัจจุบันคือ โรคมะเร็ง การที่ได้กินผักปลอดภัยจากการที่เราใส่ใจทำเอง มันมีความภูมิใจเป็นอย่างมาก และอีกสิ่งหนึ่งคือ ภูมิใจความพยายามของพวกเรา และสิ่งที่สุดท้ายที่สำคัญที่สุดได้มาทำโคก หนอง นา แห่งนี้ คือ การที่ลูกทุกคนได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากัน ได้ดูแลบุพการี ดูแลซึ่งกันและกันในยามป่วยไข้ และเราจะรักษาสืบสานต่อยอดการพัฒนาที่ดินแปลงให้อุดมสมบูรณ์ไปจนถึงรุ่นหลานในอนาคต โดยกิจกรรมหลักที่ได้ลงมือทำในวันนี้ คือ 1. ทำปุ๋ยหมัก โดยใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ 2. ทำแซนวิชปลาแบบลูกบอล 3.ปลูกต้นไม้ เช่น ต้นอโวกาโด ต้นกล้วย 4.ปล่อยปลานิล 5. รับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน
ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองสิงห์บุรี ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงาน และทุกท่าน ที่เข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคีในวันนี้ ที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารเป็นหลัก สิ่งที่เราทำไปนั้นจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และขอให้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างยั่งยืนสืบไป