นครศรีธรรมราช-ผู้ว่าฯ..ตื่นเรียกถก..!!แก้น้ำขาดแคลนโซนลุ่มน้ำปากพนัง..!!! ชลประทานอ้างไม่มีงบซื้อน้ำมันใส่เครื่องสูบน้ำ
ภาพ-ข่าว:นายหัวไทร
“ได้แต่นั่งมองน้ำไหลผ่านคลองราชดำริ แต่ไม่มีโอกาสใช้น้ำ เนื่องจากไม่มีเครื่องสูบน้ำ ชลประทานมีเครื่องสูบน้ำ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีงบค่าน้ำมัน” นี่เป็นเสียงคร่ำครวญจากเกษตรกรผู้ทำไร่ ทำนา ปลูกผัก ปลูกพริกขี้หนู ปลูกปาล์ม ในโซนลุ่มน้ำปากพนัง ร้องเรียนผ่าน #นายหัวไทร ถึงปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงนี้ เข้าใจว่า น้ำไม่ได้ขาด แต่มีปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำ เพราะชาวบ้านบอกว่า เห็นน้ำเต็มคลองราชดำริ เพียงไปชลประทานไม่ตื่นขึ้นมาบริหารจัดการ บริหารจัดการเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บริหารจัดการงบประมาณ การนั่งบ่นว่าไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อน้ำมันมาใส่เครื่องสูบน้ำ นั่งบ่นอย่างไรมันก็ไม่มาหรอกครับ หน้าที่โดยตรงคือกรมชลปรทาน เขต-โซนลุ่มน้ำปากพนังอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานชลประทานที่ 15 เมื่อรับรู้ว่าชาวบ้าน เกษตรกรมีปัญหาไม่มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร ก็ต้องแก้ไขปัญหา ผ่านวิธีคิดแบบบริหารจัดการ ผ่านการประสานงาน
ถามว่ากรมชลประทานมีเครื่องจักรกลไหม มีเครื่องสูบน้ำไหม ตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า “มี” ถามว่า กรมชลประทานมีงบประมาณจัดซื้อน้ำมันใส่เครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำไหม ตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า “มี” ถ้าบอกว่าไม่มีถือว่า บกพร่องต่อหน้าที่ บกพร่องในการจัดทำงบประมาณ ท้องถิ่นมีงบประมาณไหม ตอบว่า “มี” ถ้ากรมชลประทานบอกว่าไม่มีงบประมาณ ถามว่าทางจังหวัดมีงบไหม งบฉุกเฉินภัยแล้งน่าจะมี อาจจะแย้งกลับมาว่า ทางผู้ว่ายังไม่ประกาศอุบัติภัย (ภัยแล้ง) จะเอางบฉุกเฉินมาใช้ไม่ได้ ก็แค่ประกาศสิครับ จะได้เบิกงบมาช่วยเกษตรกร หรือถ้าจนปัญญา ก็ลองประสานความช่วยเหลือไปยังท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เชื่อว่าองค์กรท้องถิ่นมีงบแน่นอน เพียงแต่ไม่มีใครประสานขอการสนับสนุนไปมากกว่า ละเลยต่อปัญหาของชาวบ้าน งบประมาณไม่ขาดหรอก แต่ที่ขาดคือ ขาดการประสานงานที่ดีของสำนักงานชลประทานที่ 15 ที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่อยู่ ปล่อยให้ชาวบ้านเดือดร้อนได้งัย แค่นั่งบ่นว่าไม่มีงบประมาณ ไม่มีประโยชน์หรือครับ ท่านได้แจ้งขอความช่วยเหลือไปยังกรมชลประทาน ต้นสังกัดแล้วหรือยัง ท่านได้นำเรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าใหญ่ของข้าราชการในจังหวัดแล้วหรือยัง ถ้าบอกว่า แจ้งแล้ว ขอการสนับสนุนไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ก็ต้องโทษไปยังหน่วยงานที่ใหญ่กว่า ทำไมไม่ดูแล รับผิดชอบต่อปัญหาทุกข์ร้องของประชาชน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” คือคำขวัญของกระทรวงมหาดไทย ทางจังหวัดได้ทำหน้าที่แล้วหรือยัง
ย้อนไปเมื่อปี 2564 ซึ่งเกิดภัยแล้งในโซนลุ่มน้ำปากพนังเช่นกัน ทางกรมชลประทานไม่ได้นิ่งเฉย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน มอบหมายให้นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ส่งเจ้าหน้าที่และเครื่องสูบน้ำของ ฝ่ายปฏิบัติการเครื่องจักรกลสูบน้ำที่ 4 (จังหวัดสงขลา) ส่วนเครื่องจักรกลสูบน้ำสำนักเครื่องจักรกล ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 12 นิ้ว (0.3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) จำนวน 3 เครื่อง (ติดตั้งหมู่บ้านละ 1 เครื่อง) บริเวณบ้านบางหารหมู่ 1 บ้านปลายคลองหมู่ 6 และบ้านคลองแดนหมู่ 12 ตำบลเชียรเขา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรม ราช เขตพื้นที่โครงการชลประทานนครศรีธรรมราช สำนักงานชลประทานที่ 15 โดยสูบน้ำจากคลองเชียรใหญ่ส่งไปยังคลองซอยแต่ละจุดสามารถสูบน้ำได้รวมวันละ 71,200 ลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้งพืชผลการเกษตร-ไม้สวนยืนต้นพื้นที่รับประโยชน์ 3,500 ไร่ และได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 12 นิ้ว (0.3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) จำนวน 3 เครื่อง บริเวณคลองเชียรใหญ่บ้านบางจันทร์ หมู่ 7 ตำบลเชียรใหญ่ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เขตพื้นที่โครงการชลประทานนครศรีธรรมราชสำนักงานชลประทานที่ 15โดยสูบน้ำจากคลองเชียรใหญ่ส่งไปยังคลองซอยสามารถสูบน้ำได้วันละ 71,200 ลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้งทางการเกษตรนาข้าว พืชสวน–ไม้ยืนต้นพื้นที่รับประโยชน์ 3,500 ไร่ และได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 12 นิ้ว (0.3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) จำนวน 3 เครื่องบริเวณประตูระบายน้ำปากคลองค้อ หมู่3 ตำบลเกาะทวด อำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตพื้นที่โครงการชลประทานนครศรีธรรมราช สำนักงานชลประทานที่ 15 โดยสูบน้ำจากคลองค้อส่งไปยังคลองซอย สามารถสูบน้ำได้วันละ 71,200 ลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้งทางการเกษตรนาข้าว พืชสวน และไม้ยืนต้นพื้นที่รับประโยชน์ 6,000 ไร่ ก็ต้องย้อนไปดูว่า ทำไมเมื่อปี 2564 กรมชลประทานจึงได้สั่งการให้นำเครื่องจักรกลมาติดตั้งสูบน้ำให้เกษตรกรได้ ปีนี้ทำไมจึงไม่ได้
ปฐมเหตุของปัญหาในปีนี้เกิดจากเกษตรกรชาวสวนปาล์มย่านอ.ชะอวด ต้องการใส่ปุ๋ยปาล์ม แต่เนื่องจากปีนี้ฝนตกต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน ตุลาคม มาจนย่างปี 2567 ต้นปีฝนจึงหยุด ชาวสวนปาล์มย่านชะอวด จึงต้องการให้ชลประทานสูบน้ำออกไป คือดันน้ำลงทะเล ทั้งที่แพรกเมือง และชะอวด แต่พี่น้องประมงชายฝั่งก็จะได้รับผลกระทบ เมื่อน้ำจืดไปผสมอยู่กับน้ำเค็ม ปลาทะเลก็อยู่ไม่ได้
มีข้อเสนอจากชาวบ้านให้กรมชลประทานสูบน้ำดันเข้าคลองไส้ไก่ ส่งน้ำเข้าไปอยู่ในคลองย่อยให้เต็ม เมื่อถึงหน้าแล้ง เกษตรกรจะได้มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง แต่หน่วยงานรับผิดชอบไม่ทำ อ้างคำเดียว แบบกระต่ายสามขา “ไม่มีงบประมาณ”…..จบข่าว
วันนี้ทราบว่า นายขจรเกียรติ์ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แบบแหกขี้ตาตื่นมา พร้อมหน่วยงานท้องถิ่นด้วย ก็ได้แค่หวังว่า ปัญหาชาวบ้านจะได้รับการปัดเป่า หมดทุกข์ อยู่สุข เสียที..!!