ชลบุรี-“เจ้าคณะตำบลบ่อวิน”ร่วม “ประชาสัมพันธ์รณรงค์ป้องกันและต่อต้านยาเสพติด อบายมุขและการพนันในเขตวัด”
ภาพ-ข่าว:ชญาณิศา เดชกิจ / ชุลิตา บุญเรือง
บ.ก.อริย์ธัช พรอัศวโยธิน
วัดเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่ควรสงวนไว้สำหรับการปฏิบัติธรรมและกิจกรรมทางศาสนา แต่ในปัจจุบันกลับพบว่ามีทั้งการแอบเสพยาเสพติด แอบจำหน่ายยาเสพติด อบายมุขทั้งหลายและการพนัน แฝงตัวเข้ามาในเขตวัดมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและขัดต่อหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา และยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ทุกคนควรมีส่วนร่วมทั้งพระภิกษุ สามเณร รวมถึงพุทธศาสนิกชน ต้องช่วยกันประชาสัม พันธ์รณรงค์ป้องกันและต่อต้านยาเสพติด อบายมุขและการพนันในเขตวัด เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับโทษภัยของยาเสพติด อบายมุขและการพนัน ส่งเสริมให้พระภิกษุ สามเณรและพุทธศาสนิกชนปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ช่วยให้วัดเป็นสถานที่ที่ปลอดจากยาเสพติด อบายมุขและการพนัน ทั้งปวง
การประชาสัมพันธ์รณรงค์ป้องกันและต่อต้านยาเสพติด อบายมุขและการพนันในเขตวัด จะสามารถบรรลุความสำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้ ก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากพระภิกษุ สามเณร พุทธศาสนิกชน และหน่วยงานต่างๆ ในชุมชนเป็นหลัก ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกันจะเป็นการลดปัญหายาเสพติด อบายมุขและการพนันในเขตวัดลงได้เป็นอย่างมาก
อาตมา พระครูญาณประยุต เจ้าคณะตำบลบ่อวิน เจ้าอาวาสวัดเขาตะแบก อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จึงร่วมกับทาง “หนังสือพิมพ์อินทรีสยาม” ประชาสัมพันธ์รณรงค์ป้องกันและต่อต้านยาเสพติด อบายมุขและการพนันในเขตวัด โดยหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ช่วยกันรักษาพื้นที่ของวัดให้ปราศจากยาเสพติด อบายมุขและการพนันทุกชนิด เพื่อให้วัดคงไว้ซึ่งสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์สำหรับการปฏิบัติธรรมและกิจกรรมทางศาสนา เป็นสถานที่ที่สงบร่มเย็นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมสืบไป…
วัดเขาตะแบก..โดยสังเขป
วัดเขาตะแบก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันมีพระครูญาณประยุต เป็นเจ้าอาวาส วัดเขาตะแบก ได้ชื่อนี้เนื่องด้วยบนเขามีต้นตะแบกจำนวนมาก จึงมีชื่อเรียกว่า เขาตะแบก โดยนางประพันธ์ พ้นชั่ว ได้ถวายที่บริเวณเชิงเขาจำนวน 21 ไร่ 3 งาน เพื่อสร้างสำนักสงฆ์และต่อมาก็ได้เปลี่ยนมาเป็น “วัดเขาตะแบก” ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519
บริเวณที่ตั้งวัดเป็นเชิงเขา พื้นที่ส่วนใหญ่ติดกับเขา ล้อมรอบด้วยป่าและสวนยาง อาคารเสนาสนะ ได้แก่ ศาลาหลังใหญ่ สร้างเมื่อวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2534 กุฏิทรงไทย 2 หลัง หอฉัน และอุโบสถซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา วัดยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีสะพานกระจก ที่จัดทำเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างเขา 2 ลูก มีความสูงจากพื้นประมาณ 25 เมตร และมีความยาวกว่า 200 เมตร