ชลบุรี-“นายก อบต.บ้านเซิด” ร่วม“ประชาสัมพันธ์รณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน”
ภาพ-ข่าว:ชญาณิศา เดชกิจ/ชุลิตา บุญเรือง
บ.ก.อริย์ธัช พรอัศวโยธิน
อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุสําคัญในลําดับต้นๆ ของการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชน เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วย่อมส่งผลให้เกิดความเสียหายขึ้น ไม่ว่าผกจะเป็นความเสียหายที่ตีค่าเป็นตัวเงินหรือความเสียหายที่ไม่อาจตีค่าเป็นตัวเงินได้ จากความสูญเสียดังกล่าวนับว่าเป็นภัยอย่างร้ายแรงที่จะส่งผลเสียหายต่อสังคมในภาพรวม ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญที่จะป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยการจัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด อำเภอ เน้นการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสำคัญเป็นหลัก
โดยอุบัติเหตุทางถนนมิได้เกิดเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น แต่การเกิดอุบัติเหตุมีทุกวันทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นถนนเส้นทางสายหลัก ถนนสายรอง ถนนเชื่อมต่อระหว่างเขตอําเภอ หรือแม้กระทั่งถนนภายในตําบล หมู่บ้าน ซึ่งสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน อาทิเช่น ผู้ขับขี่ขาดจิตสํานึกและวินัยจราจร, ขับรถด้วยความเร็วสูง, เมาสุรา,ประมาท และอีกหลายๆสาเหตุ ซึ่งล้วนแต่เกิดขึ้นในขณะขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ทั้งสิ้น
ดังนั้นทุกคนจึงมีหน้าที่ต้องช่วยกันในการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ในทางใดทางหนึ่ง นอกจากตัวเราจะต้องมีจิตสำนึกมีวินัยในการใช้รถใช้ถนนแล้ว ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์และรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกให้คนรอบข้าง และผู้อื่นให้ใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาทและทำผิดกฎจราจร เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นให้ลดน้อยลง
กระผม นายกิตติโชติ ยาวิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเซิด อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ขอร่วมสนับสนุนเป็นส่วนหนึ่งกับ “หนังสือพิมพ์อินทรีสยาม” ในการ “ประชาสัมพันธ์รณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน” โดยขอให้ผู้ที่ใช้รถใช้ถนน ขับรถด้วยความไม่ประมาท สำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่มีการขับขี่ แต่สิ่งสำคัญคือ การมีวินัยจราจร เมาไม่ขับ หากง่วงให้จอดนอนพัก คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ ด้วยความปารถนาดี และขอให้ทุกท่านขับขี่รถถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ ปลอดภัยตลอดการเดินทาง….
ประวัติความเป็นมา “อบต.บ้านเซิด”
ตำบลบ้านเซิด ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ “บ้านเซิด” ตามชื่อหมู่บ้านเก่าแก่เมื่อครั้งก่อนสมัยรัชกาลที่ 3 จนได้รับการประกาศตั้งขึ้นเป็น “ตำบลบ้านเซิด” ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของ “อำเภอพนัสนิคม” ตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 เป็นต้นมา “เซิด” เป็นภาษาลาวตรงกับภาษาไทยว่า “เชิด” เพราะภาษาลาวไม่มีเสียงตามอักษร “ช.ช้าง” อย่างภาษาไทย ตามประวัติการเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้คือเรียกตามชื่อช้าง “ขุดเชิด” ที่เคยใช้ออกศึกตั้งแต่สมัย ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อมีอายุมากเข้าก็ต้องปลดละวางจากตำแหน่งหน้าที่ ผู้ที่ทำหน้าที่เลี้ยงช้างดูแลช้างจึงได้มีโอกาสขอนำช้างขุนเชิดมาเลี้ยงดูที่บริเวณหมู่บ้านแห่งนี้จนเป็นที่รู้จักของชาวบ้านย่านนี้อย่างกว้างขวาง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาว “ลาวอาสาปากน้ำ” มาอาศัยอยู่ที่ปากน้ำเจ้าพระยาก่อนจะเป็นจังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน ซึ่งเป็นชาวลาวเชื้อสายเวียงจันทน์ที่ขอเดินทางมาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ “เมืองพนัสนิคม” ส่วนหนึ่งก็มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณนี้ ต่อเนื่องกันไปจนถึงตัวเมืองพนัสนิคม ดังนั้น “บ้านขุนเชิด” กับ “บ้านขุนเซิด” ของชาวบ้านลาวเหล่านี้ก็เรียกกันสั้นลง ๆ มาเป็น “บ้านเซิด” และ “ตำบลบ้านเซิด” อย่างปัจจุบัน
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเซิด ปัจจุบันเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเซิด อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอพนัสนิคม ห่างจากอำเภอ พนัสนิคม ประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางจากตำบล ถึง อำเภอพนัสนิคมโดยรถยนต์ ประมาณ 5 นาที ห่างจากจังหวัดชลบุรี ประมาณ 23 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากตำบล ถึงจังหวัดชลบุรีโดยรถยนต์ ประมาณ 20 – 30 นาที และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 98 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากตำบล ถึงกรุงเทพหมานครโดยรถยนต์ประมาณ 1.30 – 2.00 ชั่วโมง องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเซิด มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 5.39 ตาราง กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ 3,113 ไร่ มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 638 ครัวเรือน เขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบล บ้านเซิด แบ่งออกเป็น 8 หมู่บ้าน ดังนี้ หมู่ที่ 1 บ้านใหญ่ หมู่ที่ 2 บ้านสวนป่านตะวันหมู่ที่ 3 บ้านสวนป่าน หมู่ที่ 4 บ้านปอ หมู่ที่ 5 บ้านศาลา หมู่ที่ 6 บ้านสวนหมาก หมู่ที่ 7 บ้านไผ่ล้อม หมู่ที่ 8 บ้านโพธิ์งาม
ปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเซิด มีนายกิตติโชติ ยาวิชัย เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเซิด โดยนายกิตติโชติ มีชื่อเล่นว่า โชติ เป็นนักการเมืองท้องถิ่นน้ำดีที่ทุ่มเททำหน้าที่เพื่อชาวบ้านตำบล”บ้านเซิด”มาตลอดหลายปี จนได้รับการคัดเลือกเข้ารับรางวัลนักการเมืองคุณภาพแห่งปี 2565 ,รางวัลสุดยอดผู้นำท้องถิ่นแห่งปี 2565 และล่าสุดเข้ารับรางวัลนักการเมืองท้องถิ่นดีเด่น เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา