กรุงเทพ-รมช.คมนาคม เปิดงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุสงกรานต์ปลอดภัย
ภาพ-ข่าว:บ.ก.อรกัญญา หลิมสัมพันธ์
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคมให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุสงกรานต์ปลอดภัย 2567 ร่วมใจลดอุบัติเหตุถนน และปล่อยแถวตำรวจเจ้าหน้าที่รถไฟ, เจ้าหน้าที่ บขส. และเจ้าหน้าที่เทศกิจ บูรณาการความร่วมมือเพื่อดูแลความปลอดภัยประชาชนในการเดินทางเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อ) พร้อมกับการเสวนาพูดคุยถีงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุสงกรานต์ปลอดภัย ร่วมใจลออุบัติเหตุทางถนน พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือในการอำนวยความสะดวก ปลอดภัย รองรับการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แบบไร้รอยต่อ และได้ซุ่มตรวจวัดแอลกอฮอล์ กับพนักงานขับรถไฟด้วย
ทางด้านนายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเอาจริงเอาจังกับปัญหาคนเมาแล้วขับอย่างเป็นรูปธรรมและพิสูจน์ทราบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่เมาแล้วขับชนคนเสียชีวิต ปัจจุบันบทลงโทษ 3-10 ปี ถ้าผู้ก่อเหตุรับสารภาพ แม้ว่าศาลจำคุกด้วยโทษสูงสุด 10 ปี ผู้ก่อเหตุรับสารภาพศาลลงโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 5 ปี ซึ่งโทษจำคุก 5 ปี อยู่ในเงื่อนไขที่ศาลสามารถรอลงอาญาผู้ก่อเหตุได้ จึงทำให้ผู้ที่เมาแล้วขับชนคนตาย ไม่มีรายใดเคยถูกจำคุกเลย
มูลนิธิเมาไม่ขับขอเสนอให้กระทรวงคมนาคมช่วยรับเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ดังนั้นมูลนิธิเมาไม่ขับจึงได้ทำหนังสือเสนอให้กับรัฐมนตรีว่การกระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ขอให้กระทรวงคมนาคมสนับสนุนการแก้ไขบทลงโทษเมาแล้วขับชนคนเสียชีวิตจากโทษจำคุก 3-10 ปี เป็นจำคุก 11-13 ปี แม้ว่าผู้ที่เมาแล้วขับชนคนตายรับสารภาพและศาลลงโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกด้วยโทษขั้นต่ำ 11 ปี คงเหลือ 5 ปี 6 เดือน ศาลก็ไม่สามารถรอลงอาญาได้ เนื่องจากโทษจำคุกเกิน 5 ปี
เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยต่อไปว่า ในฐานะที่ตนทำงานขับเคลื่อนการบังคับใช้กำหมายมากว่า 30 ปี คิดว่าถึงเวลาแล้วที่การจัดการกับคนเมาแล้วขับต้องเป็นสากลเหมือนกับนานาอารยประเทศที่พัฒนาแล้ว พฤติกรรมผู้ที่เมาแล้วขับไปชนคนเสียชีวิตกับคนที่ขับรถหักหลบหมาชนคนเสียชีวิต บทลงโทษมันไม่ควรเท่ากันเพราะคนคนหนึ่งรู้อยู่แก่ใจว่ากฎหมายห้ามเมาแล้วไปขับ แต่ยังจงใจเจตนาฝ่าฝืน แต่คนที่ขับรถหักหลบหมาไปชนคนเสียชีวิตมันเป็นเพราะสุดวิสัย พฤติกรรมต่างกัน เจตนาต่างกัน บทลงโทษก็ควรต่างกัน