ประจวบคีรีขันธ์-มะม่วงส่งออกนอกฤดูเจออากาศร้อนแล้งจัดผลผลิตตกเกรด
ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ
วันที่ 23 เมษายน 2567 กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงส่งออกนอกฤดูตำบลอ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ประสบปัญหาภัยร้อนแล้งจัด ส่งผลกระทบใบร่วงและตายในที่สุด เกษตรกรหลายรายถอดใจลดพื้นที่การปลูกจาก 2,700 ไร่ เหลือเพียง 1,000 ไร่ ทั้งเกษตรกรที่มีประสบการณ์สูงหลายสิบปียังเอาไม่อยู่ เหตุจากอากาศร้อน แล้งจัด ฝนขาดช่วง แหล่งน้ำในภาคเกษตรกรรมขาดแคลน
นายพนม ซำเผือก อายุ 61 ปี เกษตรกรผู้มีประสบการณ์ปลูกมะม่วงกว่า 30 ปี เป็นรุ่นก่อตั้ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกนอกฤดูอ่าวน้อย ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ช่วงปีที่แล้วและปีนี้ อากาศร้อนและแล้งจัด ฝนขาดช่วง น้ำในระบบมีน้อย มีผลกระทบต่อการเติบโตของผลผลิต จากที่เคยบังคับการออกช่อดอกปีละ 3 ครั้ง ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ครั้ง เพราะน้ำในการทำเกษตรไม่พอ ผล ผลิตมีขนาดเล็ก ไม่ได้ขนาดสำหรับการส่งออก จากมาตรฐานที่ส่งไปยังประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เป็นลูกใหญ่น้ำหนักกว่า 3 ขีด เหลือเป็นลูกขนาดกลาง 2 ขีด ซึ่งไม่สามารถส่งออกได้ และอากาศร้อนทำให้ใบร่วง ผลผลิตออกน้อยและไม่โต ในที่สุดยืนต้นตาย ตนเองปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกจำนวน 3 แปลง 80 ไร่ ปีนี้เริ่มตายแล้ว 1 ไร่ ส่วนปีแล้วตายไป 30 ไร่ เป็นเหตุให้เกษตรกรในกลุ่มลดขนาดพื้นที่เพาะปลูกจาก 2,700 ไร่ เหลือ 1,000 ไร่ จากภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ และต้นทุนการผลิต นอกจากภัยแล้งที่เริ่มต้นขึ้นแล้ว หากร้อนจัดและแห้งแล้งต่อไป จะมีผีเสื้อมวลหวน และเพลี้ยไฟ ขยายพันธุ์และระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติที่เข้าทำลายผลผลิตอย่างรุนแรงอีกด้วย
ในเบื้องต้น จัดการแก้ปัญหาโดยวางระบบน้ำผ่านท่อไปยังต้นมะม่วงทุกต้น เพื่อลดอุณหภูมิจากแสงแดดที่ร้อนจัดให้ต้นไม้เย็นลง มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นและใบ ใช้เงินไปแล้ว 50,000 บาท ในแปลงแรกขนาด 18 ไร่ ยังเหลืออีกสองแปลง คาดว่าใช้เงินไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาท ในขณะที่เกษตรกรบางรายไม่มีความพร้อมในการลงทุน สำหรับน้ำที่ใช้มาจากระบบระบบชลประทานที่อ่างเก็บน้ำคลองบึง ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันมีน้ำกักเก็บไม่ถึงร้อยละ 10 ของความจุอ่างที่ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร หากระบบชลประทานไม่สามารถรองรับความต้องการของเกษตรกรได้ แต่ละรายอาจต้องขุดสระน้ำ หรือเจาะบ่อบาดาลเอง เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตในภาวะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรไม่เอื้ออำนวย
นายพนม ซำเผือก กล่าวว่า “อากาศแล้งและร้อนจัด ต้นมะม่วงที่ไม่มีระบบน้ำเริ่มตายลงเรื่อยๆ รวมถึงพืชชนิดอื่น เช่น ขนุน ยางพารา สู้ไม่ไหว อุณหภูมิขึ้นถึง 42 องศาเซลเซียส ร้อนยืนต้นตาย ระบบน้ำได้ชลประ ทานทำท่อส่งลงสระ ดูดขึ้นไปรถต้นมะม่วง วางระบบน้ำในต้นไม้ เขื่อนคงเปิดได้เพียง 2 ครั้ง เพราะน้ำในเขื่อนเริ่มแห้ง หากไม่มีน้ำ ต้องรอฝน หากไม่มีฝน ต้องเจาะบาดาล” “เทียบกับปีที่แล้วตายยืนต้นตายไป 30 ไร่ ปีนี้เริ่มตายแล้ว 1 ไร่ และหากไม่แก้ไข ก็จะตายไปเรื่อยๆ ปีนี้ภัยแล้งรุนแรงมาก จะมีโรคระบาด ผีเสื้อมวนหวาน เพลี้ยไฟ ทำลายผลผลิต”