อยุธยา-วางพวงมาลาเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์และทำพิธีบำเพ็ญกุศล“สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”ระลึกคล้ายวันสวรรคต
ภาพ-ข่าว นราเอก ตันศิริ : นพดล บำเพ็ญสัตย์
เมื่อเวลา 07.45 น.วันนี้ 25 เมษายน 2567 ที่ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริเวณทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยานายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เนื่องในวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคต พร้อมด้วยนางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายไพรัตน์ เพชรยวน นายประพันธ์ ตรีบุปผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายเสกสรร ถนอมกิตติ ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.อ.ภัทราวุธ ทิพโกมุท รอง ผอ.รมน.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา(ท)พล.ต.ต.โชติวัฒน์ เหลืองวิลัย ผบก.ภ. จว.พระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีฯ
วันที่ 25 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ เชี่ยวชาญในอาวุธทุกชนิด ทรงชี้พระแสงปืนยาวยิงข้ามแม่น้ำสะโตง ถูกแม่ทัพของพม่าที่ติดตามมาซึ่งนั่งอยู่บนคอช้างจนเสียชีวิตทำให้ทัพของพม่าถอยกลับ ทรงกระทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา จนได้รับชัยชนะ ทำให้พระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาลไปทั่วปฐพี และทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนปกปักรักษาเอกราชของชาติจนทำให้มีประเทศไทยอย่างเช่นทุกวันนี้
บำเพ็ญกุศลวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ต่อมา เวลา 09.30 น. ที่ บริเวณวัดวรเชษฐาราม หลังโรงเรียนประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยนางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานพิธีบำเพ็ญกุศลวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประจำปี 2567 จัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำโดยนางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมคณะผู้บริหาร และพนักงาน ร่วมจัดพิธีฯ
สำหรับวัดวรเชษฐาราม เป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่ง สมเด็จพระเอกาทศรถ สร้างเป็นอนุสรณ์แด่พระเชษฐา เดิมวัดนี้ชื่อ วัดเจ้าเชษฐ์ มีเจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ ลักษณะอ้วนป้อมบนฐานเตี้ย อายุของเจดีย์นี้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20–22 มีวิหารตั้งอยู่ด้านหน้า อุโบสถอยู่ขนานกัน อุโบสถไม่เหลือหลังคาแล้ว แต่หน้าบันมีการประดับด้วยเครื่องถ้วยหรือการเริ่มเจาะหน้าต่าง ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 23