เพชรบุรี-‘สมศักดิ์’ ลงพื้นที่ สั่งเดินหน้า “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ”

เพชรบุรี-‘สมศักดิ์’ ลงพื้นที่ สั่งเดินหน้า “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ”

ภาพ-ข่าว:สุรพล นาคนคร 

           ชูโมเดล สสส. คนหัวใจเพชร ลดเหล้า-บุหรี่ ออมเงินได้กว่า 120 ล้านบาท ลดพนันเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออมนำร่อง รร.ผู้สูงอายุ 150 แห่ง สานพลังชุมชนเข้มแข็ง-สร้างรายได้-สร้างความมั่นคงทางอาหาร เตรียมขยายขับเคลื่อนพื้นที่นำร่องระดับตำบล/ ชุมชน 2,000 แห่งทั่วประเทศ
            เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 ที่ อบต.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่รับฟังสรุปการดำเนินงาน “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ จ.เพชรบุรี” โมเดลการแก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้สินครัวเรือน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้สินครัวเรือน ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย และเร่งวางแนวทางแก้ไขปัญหา เนื่องจากข้อมูลหนี้สินครัวเรือนไทยปี 2566 สูงถึง 16.2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะครอบครัวผู้มีรายได้น้อย มีค่าใช้จ่ายการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าครอบครัวรายได้สูงถึง 6 เท่า และใช้เงิน 21.5% ของรายได้ไปกับการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังมีหนี้สินจากการพนันที่พบว่า มีผู้ติดหนี้พนันถึง 1.6 ล้านคน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนคน จากปี 2564 คิดเป็นมูลค่าหนี้สินรวมมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 12,335 บาท/คน

             “หลายครอบครัวมีหนี้สินสูงกว่ารายได้ การแก้ไขปัญหาหนี้ต้องพัฒนากลไกให้เกิดเป็นระบบ ลดรายจ่ายจากปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนสุขภาพ และทำให้เกิดแผนเศรษฐกิจชุมชน อาทิ สร้างอาชีพ เชื่อมโยงองค์กร/สถาบันการเงิน ส่งเสริมการผลิต และใช้เอง รวมถึงแผนปลดหนี้ พัฒนาอาชีพเสริมรายได้ พัฒนาผู้ประกอบการอินทรีย์ตลาดสีเขียว ให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เชื่อมั่นว่าเป้าหมายขยายโมเดลการทำงานของ สสส. สามารถไปสู่การสร้างชุมชนปลอดความยากจน ที่จะนำร่องระดับตำบล/ ชุมชน ไม่น้อยกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นก้าวสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพตนเอง ชุมชน สังคม นอกจากเกิดผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจระดับประเทศด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าว
             นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า มาตรการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ” เป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุน สสส. มีมติให้ร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) พัฒนาแนวทางจัดการหนี้ครัวเรือน โดยตั้งต้นจากการลดค่าใช้จ่ายบั่นทอนสุขภาพ โดยเฉพาะเหล้า บุหรี่ การพนัน เพื่อแก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้สินครัวเรือน ที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ขับเคลื่อนงานลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น อาทิ ขับเคลื่อนงานระดับตำบล/ชุมชน 626 พื้นที่ โครงการ “คนหัวใจเพชร” ลดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา นำไปสู่การงดเหล้าตลอดชีวิต เฉพาะปี 2565 มีผู้เข้าร่วม 151,948 คน สามารถประหยัดเงินได้ถึง 121,784,378 บาท ลดการพนัน เปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออมในโรงเรียนผู้สูงอายุกว่า 150 โรงเรียน นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดรายจ่าย สสส. และภาคีเครือข่ายได้สานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง พัฒนาแผนเศรษฐกิจชุมชน และแผนปลดหนี้ครัวเรือน สร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยสวนผักชุมชน ลดรายจ่าย สามารถนำไปจำหน่าย สร้างรายได้ ให้ครอบครัว และชุมชน

               ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า เครือข่ายประชาคมงดเหล้า จ.เพชรบุรี ขับเคลื่อนผ่านทีมอาสาเครือข่ายชมรมคนหัวใจเพชร และแกนนำชุมชนคนสู้เหล้า จำนวน 15 ชุมชน เน้นงานชวน ช่วย ชมเชียร์ คนเลิกเหล้า และออมเงิน ฟื้นฟู ผู้ติดสุรา ส่งเสริมให้ลดรายจ่ายสร้างรายได้ รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา งดเหล้าในงานบุญ งานศพ และงดเหล้าตลอดทั้งปี ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมคือสามารถลดรายจ่ายการจัดงานจาก 63,000 บาท หลังเข้าร่วมโครงการ เหลือ 13,500 บาท เหลือเงินออมได้ถึง 49,500 บาท นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งกองทุนเจ้าภาพ และสวัสดิการ สนับสนุนเจ้าภาพงานเลี้ยงปลอดเหล้าจากกองทุนชุมชน เจ้าภาพละ 1,000 บาท และสนับสนุนทุนตั้งต้นเพื่อพัฒนาอาชีพ ให้แก่เยาวชนที่เข้าร่วมงดเหล้า กองทุนละ 4,000 – 5,000 บาท
               นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายกสมาคมพัฒนาการปกครองท้องถิ่นไทย อดีตนายก อบต.บ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี หนึ่งในตำบลสุขภาวะ กล่าวว่า อปท.ใน จ.เพชรบุรี มีจำนวน 84 แห่ง ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 55 แห่ง กระจายทั้ง 8 อำเภอ คิดเป็น 65.5% ทำงานร่วมกับแผนสุขภาวะชุมชน สสส. ดำเนินงานเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ด้วยแผนเศรษฐกิจชุมชน และแผนปลดหนี้ครัวเรือน ได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน นำผลผลิตท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า เช่น กลุ่มต้นตาลประดิษฐ์ กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์จากใบตาล หมู่บ้านจัดการตนเองด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และผลักดันกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างรายได้ โดยมีทุนหมุนเวียนตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ให้สมาชิกสามารถกู้ยืมไปประกอบอาชีพ เป็นต้น

              นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า พนันเป็นปัญหาต่อหนี้สินครัวเรือน และยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว จึงต้องสร้างความตระหนักพิษภัยของพนัน ผ่านหลักสูตร ลอตเตอรี่ศึกษา สร้างการเรียนรู้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 150 โรงเรียนผู้สูงอายุ เชื่อมการทำงานต่อที่การอบรมพี่เลี้ยงการเงิน และหลักสูตรพี่เลี้ยงการเงินรู้ทันการพนัน ทดลองทำในพื้นที่ 10 จังหวัด “เปลี่ยนเงินหวย เป็นเงินออม” ชักชวนให้ครอบครัวในท้องที่ต่าง ๆ ลด ละ เลิกพนัน จากการทำงานที่ผ่านมา พบว่าผู้เข้าร่วมโครงการเห็นถึงเงินเล่นพนันที่เสียไป หันมาจดบัญชีครัวเรือน ทำให้ทราบว่าทิศทางรายจ่ายของครอบครัวมีมากกว่ารายรับ จึงทำให้ครอบครัวหันมาลดรายจ่าย ลดการใช้จ่ายไม่จำเป็นลงได้

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!