อุดรธานี-“เผ่าภูมิ”รมช.คลัง เยี่ยมชมเรือนจำชั่วคราวโคกก่อง งาน บสย.สร้างชีวิตใหม่ ปีที่ 5
ภาพ-ข่าว:พฤตินัย มั่งสวัสดิ์
ผบ.เรือนจำชั่วคราวโคกก่อง อุดรธานี ปลื้ม “บสย. สร้างชีวิตใหม่” หนุนนโยบายรัฐ ผนึก มูลนิธิ ณภาฯ – กอช. สร้างอาชีพผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ พร้อมเข้าถึงสินเชื่อในระบบผ่านการค้ำประกันของ บสย.
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 24 พ.ค.67 ที่เรือนจำชั่วคราวโคกก่อง เรือนจำกลางอุดรธานี ต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายสุพัฒน์ เมธีวรพจน์ ประธานกรรมการ บสย. นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. นายเอกภพ เดชเกรียงไกรสร รองประธานมูลนิธิ ณภาฯ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม คณะกรรมการ กอช. และประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการออมและสมาชิก และพันเอกปริวรรตน์ วิมลปรีชาพงศ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานี ร่วมเปิดโครงการ CSR “บสย. สร้างชีวิตใหม่” ปีที่ 5 ประจำปี 2567 เพื่อผู้ต้องขังที่กำลังพ้นโทษที่เข้าร่วมโครงการสร้างอาชีพ ในหลักสูตรการฝึกอบรมทางการเงิน สร้างงาน สร้างอาชีพ และการออม โดย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมกับ มูลนิธิ ณภาฯ ในพระราชดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังพิธีเปิดโครงการฯ ว่า กระทรวงการคลัง มองเห็นถึงศักยภาพของธุรกิจขนาดเล็ก ที่จะเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การสร้างโอกาสให้กับทุกกลุ่มอาชีพ ประโยชน์ของการออม เป็นหัวใจสำคัญ นโยบายของกระทรวงการคลัง ต้องการให้รัฐวิสาหกิจมุ่งเน้นเรื่องการสนับสนุนนโยบายรัฐ สร้างโอกาสให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
ด้านนายสุพัฒน์ เมธีวรพจน์ ประธานกรรมการ บสย. เปิดเผยว่า โครงการ “บสย. สร้างชีวิตใหม่” ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2563 จากการที่ บสย. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพ ฝีมือ และทักษะด้านต่าง ๆ ของกลุ่มผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ ที่ผ่านมา บสย. เป็นตัวกลางเชื่อมโยงให้ความรู้ทางการเงิน ตามแนวคิด “เติมทุน เติมความรู้ เติมคุณภาพชีวิต” พร้อมส่งเสริมด้านธุรกิจในบทบาทพี่เลี้ยง SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อในระบบ การจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษในเรือนจำ และทัณฑสถาน รวม 12 แห่ง ระหว่างเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2567 โดยมีจำนวนผู้อบรมแต่ละแห่งไม่ต่ำกว่า 100 คน คาดว่าจะมีผู้ที่ได้รับการอบรมความรู้ประมาณ 1,200 คน คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือกลุ่มผู้ต้องขังหลังพ้นโทษได้รับสินเชื่อที่ผ่านการค้ำประกันของ บสย. เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 85,000 บาทต่อราย
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวด้วยว่า โครงการ “บสย. สร้างชีวิตใหม่” มีเครือข่ายพันธมิตรจับมือกันเสริมสร้างภูมิคุ้มกันผู้ประกอบอาชีพกลุ่มเปราะบางให้มั่นคงยั่งยืน ตามพันธกิจของ บสย. ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ พร้อมศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ด้วยหลักสูตรการฝึกอบรม โดยผู้เชี่ยวชาญทางการเงินเฉพาะด้าน ให้ความรู้ ดูบัญชีเป็น จัดทำบัญชีได้ และช่วยเตรียมความพร้อมในการขอสินเชื่อ การคำนวณต้นทุนเริ่มต้นธุรกิจ โดยมี บสย. สำนักงานเขต ในพื้นที่ร่วมเป็นพี่เลี้ยงช่วยในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน