ประจวบคีรีขันธ์-รมว.ศึกษาธิการ เยี่ยมชมการดำเนินงานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หัวหิน
ภาพ-ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร
วันที่ 24 พ.ค.67 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเยี่ยมชมการเรียนการสอนของโรงเรียนวังไกลกังวลฝ่ายประถมศึกษาและฝ่ายมัธยมศึกษา วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล และสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ โดยมี รศ.นราพร จันทร์โอชา รองประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสินาทร โอ่เอี่ยม รองผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ นางยุวนิตย์ ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเที ยม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา ให้การต้อนรับ
มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชปณิธานในการจัดการศึกษาให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แก้ปัญหาการขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น และครูสอนไม่ตรงสาขาวิชาเอก โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล จึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนประเดิม จำนวน 50 ล้านบาท และทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี พุทธศักราช 2539 ให้เป็นเครื่องหมายของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดย พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ ได้น้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติ มีการพัฒนาระบบการดำเนินงานรูปแบบใหม่ทั้งโครงสร้างการบริหารงานภายในองค์กร และระบบการออกอากาศการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (NEW DLTV) เพื่อให้รองรับกับสถานการณ์ของโลกและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการพัฒนาและต่อยอดการดำเนินงานให้บริการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่
1. ปรับผังการออกอากาศครอบคลุมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ออกอากาศ 15 ช่อง ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัยช่วงเวลา 08.30 – 14.30 น. จากเดิมออกอากาศระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นออกอากาศระดับปฐมวัยปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เนื่องจากพบว่าการศึกษาระดับปฐมวัยของประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมากจนทำให้เด็กไม่สามารถมีพัฒนาการสมวัยได้ อีกทั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในปัจจุบันส่วนใหญ่มีครูครบชั้น หากแต่ยังมีโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดสอนระดับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ยังคงต้องการความช่วยเหลือ
2. เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จากระบบมาตรฐาน Standard Definition (SD) เป็นระบบความคมชัดสูง High Definition (HD) เพื่อให้โรงเรียนปลายทางได้รับชมภาพการเรียนการสอนที่คมชัด และเปลี่ยนระบบการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน เพื่อการออกอากาศที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3. ปรับปรุงอาคารสถานีฯ และห้องเรียนต้นทาง รวมทั้งพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ให้กับนักเรียนห้องเรียนต้นทางและนักเรียนในโรงเรียนปลายทางทั่วทั้งประเทศอย่างสูงสุด อีกทั้งยังพัฒนาบุคลากรครูและเจ้าหน้าที่เทคนิค เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานด้านสื่อและงานสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมแห่งใหม่ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น ประกอบด้วยห้องเรียนออกอากาศ จำนวน 6 ห้อง ห้องควบคุมการส่งสัญญาณออกอากาศ ห้องตัดต่อรายการ ห้องบันทึกรายการฉากเสมือนจริง ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ
4. เปลี่ยนกระบวนการผลิต (Production) จากการถ่ายทอดสดเป็นการบันทึกเทป มีการวางแผนการถ่ายทำ จัดทำ Storyboard กำหนดมุมภาพระหว่างครูและทีมผลิตและรวมถึงมีการออกแบบสื่อกราฟิกที่น่าสนใจ ถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ยังสามารถแก้ไขรายการที่สอนให้มีความสมบูรณ์ที่สุดและก่อนนำรายการขึ้นสู่เว็บไซต์ให้คุณครูปลายทางได้รับชมและเตรียมการสอนล่วงหน้า 3 วัน รวมทั้งสามารถดาวน์โหลดแผนการสอน ใบงาน สื่อต่าง ๆ ได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ อีกด้วย 5. เพิ่มช่องทางการออกอากาศ สามารถรับชมได้ทั้งระบบทีวีดาวเทียม ระบบออนไลน์บนเว็บไซต์ของมูลนิธิ http://xn--www-mpl.dltv.ac.th/ แอปพลิเคชัน DLTV และช่องยูทูป DLTV 1 Channel – DLTV 12 Channel และ DLTV 15 Channel เพื่อให้สามารถรับชมได้สะดวกและง่ายขึ้นทุกที่ ทุกเวลา
ปัจจุบัน “New DLTV” เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลกว่าสามหมื่นหนึ่งพันแห่ง ได้แก่ โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา (พศ.) โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน ทำให้มีจำนวนครูและนักเรียนที่ได้รับโอกาสเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 ล้านคน ด้วยพระมหากรุณาธิ คุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม