กาฬสินธุ์-ฝนตกน้ำเริ่มไหลเข้าเติมเขื่อนลำปาว..!! เตรียมประชุมบริหารจัดการน้ำ
ภาพ-ข่าว:ทีมข่าวจังหวัดกาฬสินธุ์
จังหวัดกาฬสินธุ์เข้าสู่ฤดูฝน หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตก ส่งผลดีทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเติมเขื่อนลำปาวเพิ่มมากขึ้น พร้อมส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ลำน้ำชีตอนล่างเฉลี่ยวันละ 5 ล้านลบ.ม. ด้าน ผอ. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ยืนยันปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเตรียมแปลงเพาะปลูก และเพียงพอทุกกิจกรรมในช่วงหน้าฝนนี้อย่างแน่นอน
วันที่ 5 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตก ซึ่งนอกจากจะสร้างความชุ่มชื่นกับพื้นที่การเกษตรแล้ว ยังทำให้แหล่งกักเก็บน้ำต่างๆมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะเขื่อนลำปาว ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันพบว่าจากฝนที่ตกลงมา ส่งผลดีเพราะเริ่มมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า หลังจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน หลายพื้นที่ใน จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ใกล้เคียงก็เริ่มมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว ซึ่งส่งผลดี เนื่องจากทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเติมในอ่างเก็บน้ำลำปาวมาเพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีน้ำไหลเข้ามากกว่า 70 ล้าน ลบ.ม.ทำให้ปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 715 ล้าน ลบ.ม.จากความจุกักเก็บ 1,980 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 36 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปริมาณน้ำยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่มีการเก็บสถิติในช่วงเดียวกันของทุกปีที่ผ่านมา โดยค่าเฉลี่ยปกติอยู่ที่ 27 เปอร์เซ็นต์
นายสำรวย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทางโครงการฯ ยังคงส่งและระบายน้ำทางอาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม หรือจุดผันน้ำ และส่งน้ำผ่านอาคารระบายน้ำ หรือสปิลเวย์ ลงสู่ลำน้ำปาวไหลไปยังแม่น้ำชี เพื่อช่วยในการอุปโภค บริโภค ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งเพื่อรักษาระบบนิเวศตลอดลำน้ำชีตอนล่าง ทั้ง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี เฉลี่ยวันละ 5 ล้าน ลบ.ม.อีกด้วย
นายสำรวย กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งน้ำในพื้นที่เขตชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์นั้น จะมีการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทานหรือเจเอ็มซี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มผู้ใช้น้ำ และทุกภาคส่วนในช่วงกลางเดือน หรือประมาณปลายเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อวางแผนการใช้น้ำ และส่งน้ำในฤดูฝน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวที่มีอยู่ปัจจุบันนั้น มีเพียงพอต่อการเตรียมแปลงเพาะปลูก และเพียงต่อการส่งน้ำใช้ทุกกิจกรรม ทั้งการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตรในช่วงหน้าฝนนี้อย่างแน่นอน