อุบลราชธานี-ผู้ว่าฯ โชว์วิสัยทัศน์จังหวัดนำร่องในงานฯศูนย์ประชุมสหประชาชาติ
ภาพ-ข่าว:ทีมข่าวจังหวัดอุบลราชธานี
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีโชว์วิสัยทัศน์จังหวัดนำร่อง บทบาทต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในงาน SDG Localization: Thailand’s Journey Towards Sustainability ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ
วันนี้ (21 มิถุนายน 2567) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม ESCAP Hall ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมคณะทำงานจังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมงานเสริมสร้างความเข้มแข็งการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ (SDG Localization: Thailand’s Journey Towards Sustainability) เสวนาแบ่งปันประสบการณ์และวิสัยทัศน์ต่อการนำเป้าหมายการพัฒนาและโอกาสในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปฏิบัติระดับจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ถึงความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเพื่อเป้าพัฒนาจังหวัดตามแนวทาง SDGs ด้วยบริบทจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีพื้นที่กว่า 15,736 ตารางกิโลเมตร และจำนวนประชากร 1.8 ล้านคนเศษ พื้นที่ชายแดนยาว 428 กิโลเมตร มุ่งมั่นในการโดยใช้ศักยภาพ ด้านวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว การมีจุดผ่านแดนทางการค้า และพื้นที่ทางการเกษตรที่หลากหลาย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตให้พลเมืองของจังหวัดมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมบนพื้นฐานของความพอเพียง “โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” สามารถปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงและมีภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”
สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ศักยภาพที่หลากหลายของจังหวัดอุบลราชธานี ได้แยกมิติการพัฒนา 3 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านคน ผมให้ความสำคัญอย่างยิ่งเพราะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ถือเป็น หัวใจสำคัญของการพัฒนา การสนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล การแก้ไขปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดและในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดทำโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพการอ่านออกเขียนได้ของเด็กไทย/เยาวชนไทย สู่คุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมี การดำเนินการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ทั้ง 10 แห่ง ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
2. ด้านเศรษฐกิจ จังหวัดอุบลราชธานีให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก ตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชน อีกทั้งผู้ว่าฯ มีพื้นเพจากคนชนบท ผมมีความเข้าใจวิถี เศรษฐกิจชุมชนเป็นอย่างดี จนประชาชนให้ขนานนามว่า “ผู้ว่าบ้านบ้าน” ขยายความก็คือ ผู้ว่าที่มีบุคลิกลักษณะที่มีตัวตนและบุคลิกของคนพื้นถิ่น” ดังนั้น การยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี ที่จะสร้างความยั่งยืนได้นั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระดับ ครอบครัว โดยเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าไปสนับสนุนการมอบบ้านให้กับผู้ยากไร้ ใน “โครงการก่อสร้างและซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และมีการขับเคลื่อน บันทึกข้อตกลงบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน (บวร.) และมีเครื่องมือคือการน าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์ใช้ตามหลัก อารยเกษตร แล้วค่อยๆ พัฒนา หนุนเสริม ให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า และพืชเศรษฐกิจชุมชน
สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ การเข้าไปเสริมองค์ความรู้ให้กับประชาชน เพื่อให้เขาสามารถปรับตัวในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น แนวปฏิบัติของเกษตรกรที่ทำการเผาตอซังหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งกระทบต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝุ่นละออง และปัญหาไฟป่า หมอกควัน จุดนี้ ในบทบาทผู้นำได้นำทีมบูรณาการเข้าไปสร้างการรับรู้และนำเสนอ องค์ความรู้ใหม่ในการจัดการ แทนการเผาการสร้างทางเลือกที่เพิ่มขึ้นสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ให้มีอาชีพเสริม และรายได้เพิ่ม ในจังหวัดอุบลราชธานี มีการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว มาเป็นผลไม้เศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ภายใต้แนวคิด “ทุเรียนแสงแรก” ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ อำเภอน้ำยืน อำเภอน้ำขุ่น ซึ่งเห็น ความแตกต่างในการสร้างรายได้อย่างเห็นได้ชัดเจน
3. ด้านการค้าภายในและการค้าชายแดน ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเกื้อหนุนให้เกิดการ เจรจาช่องทางการค้าระหว่างเมืองคู่มิตรของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง สปป.ลาว และ เวียดนาม โดยเฉพาะมีศักยภาพด้านด่านชายแดนถาวรช่องเม็ก และด่านถาวร ปากแซง และจุดผ่อนปรนทางการค้าในรอยต่อชายแดนอีกหลายแห่ง (มูลค่าการค้า ชายแดนไทย-สปป.ลาว ปี 2565 จำนวน 15,662 ล้านบาท ในปี 2566 จำนวน 19,320 ล้านบาท และปี 2567 (ม.ค.- พ.ค. มูลค่า 11,341 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี) ตรงจุดนี้เป็นจุดที่สร้างเศรษฐกิจ ชุมชนและท้องถิ่น มีการค้าขายสินค้าพื้นเมือง เราต้องสร้างให้ประชาชนตระหนักถึง ความสำคัญและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและการหวงแหนซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังมี โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ที่ไทยมีความพร้อมในการดำเนินการและทาง สปป.ลาว อยู่ระหว่างการจัดหา งบประมาณในการก่อสร้างและเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดมูลค่าทางการค้าชายแดนและการลงทุนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
นายศุภศิษย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ผมในนามพี่น้องชาวอุบลราชธานี เชื่อมั่นว่า การที่จังหวัดอุบลราชธานีได้รับการคัดเลือกเป็นจังหวัดนำร่อง ในการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้จังหวัดมีการจัดทำข้อมูล และการรับทราบตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจนในแต่ละด้าน จะสามารถเป็นเครื่องมือในการบูรณาการการทำงานให้เกิดผลสำเร็จได้ครับ”