นครสวรรค์-จัดการแสดงผลการดำเนินงานศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านวัฒนธรรมดนตรี
ภาพ-ข่าว:ชาติชาย เกียรติพิริยะ
Soft Power “วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพลังสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่”วช. นำผลงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผสานการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม นำเสนอโดยการเรียงร้อยของศิลปินและวงไทยซิมโฟนี ออร์เคสตร้าในงาน “เมืองแมนแดนสวรรค์ พาสาน ปากน้ำโพ“ จ.นครสวรรค์
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ จังหวัดนครสวรรค์ มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดการแสดงผลการดำเนินงานศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านวัฒนธรรมดนตรี โดยการนำเสนอของ วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ภายใต้โครงการวิจัย “วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพลังสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่“ ในเรื่องราว”เมืองแมนแดนสวรรค์ พาสาน ปากน้ำโพ”
โดยมี นายทวี เสริมภักดีกุล ผวจ.นครสวรรค์ เป็นประธานในพิธีเปิด, ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์, นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครสวรรค์ กล่าวต้อนรับ กิจกรรรมดังกล่าว มีท่านผู้บริหารและผู้สนับสนุนสำคัญเข้าร่วมกิจกรรมวัฒนธรรมดนตรี ประกอบด้วย นายภิญโญ นิโรจร์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมชมการแสดงดนตรี อำนวยการแสดงโดย รองศาสตราจารย์ ดร. สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ณ พาสาน อาคารสัญลักษณ์ต้นน้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรมบรรเลงเพลงพื้นบ้านที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้านี้ เป็นผลงานการวิจัยในโครงการ “วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพลังสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่“ ในหัวข้อการแสดงเรื่อง”เมืองแมนแดนสวรรค์ พาสาน ปากน้ำโพ” ที่ วช. ได้สนับสนุนการวิจัยให้กับ “มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข” ซึ่งดำเนินการโดย รองศาสตราจารย์ ดร. สุกรี เจริญสุข ในการวิจัยเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โดยการค้นหาเพลงเก่าของชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาเรียบเรียงใหม่ พร้อมเล่นผ่านวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้า เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างสิ่งใหม่บนรากฐานสิ่งเก่า และเพื่อรักษาเสถียรภาพและอัตลักษณ์ของสังคมไทยให้สืบทอดและคงอยู่ต่อไป
โดยก่อนหน้านี้ได้มีการแสดงบรรเลงเพลงพื้นบ้านภาคกลางที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ วช.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวัฒนธรรมดนตรีศึกษาเพลงพื้นบ้านของภูมิภาคต่างๆ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของไทย และสร้างสรรค์เป็น Soft Power ให้กับอัตลักษณ์ของพื้นที่จังหวัดด้วยการวิจัยและนวัตกรรม
นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ขอขอบคุณ วช. ที่ได้สนับสนุนโครงการวิจัยที่มีคุณค่าเกี่ยวกับวัฒนธรรมดนตรี ซึ่งเป็นศิลปะที่งดงามผูกพันกับคนไทยมาทุกยุคทุกสมัย และขอชื่นชม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ที่เห็นความสำคัญของพลังเสียงดนตรี จนรังสรรค์งานคุณภาพในครั้งนี้ให้เกิดขึ้น ตลอดจนถ่ายทอดผลงานที่ดีไปสู่สาธารณชน ซึ่งจังหวัดนครสวรรค์ ได้ชื่อว่า เมืองสี่แคว แห่มังกร พักผ่อนบึงบอระเพ็ด ปลารสเด็ดปากน้ำโพ การแสดงดนตรีในวันนี้ จัดขึ้นที่พาสาน อาคารสัญลักษณ์แห่งต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองนครสวรรค์ เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คใหม่บริเวณเกาะยม จุดกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจในปากน้ำโพ ชื่อ “พาสาน” มีที่มาจากคำว่า “ผสาน” หมายถึง การรวมกัน แต่พาสานคือการพาคนเข้าไปสานให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างคน สถานที่ และช่วงเวลาด้วย
รศ.ดร. สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวว่า งานแสดงดนตรีที่พาสาน ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ครั้งนี้ เป็นการนำเสนอดนตรีใหม่ นำเอาองค์ความรู้ดนตรีกลับมาแสดงในชุมชน เป็นดนตรีที่ได้สร้างสรรค์ใหม่โดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า เพลงที่เลือกแสดงที่พาสาน อาศัยเค้าโครงงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ แสงทอง ซึ่งเป็นนักวิจัยในพื้นที่ แล้วนำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อบรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า โดยเริ่มจากเพลงเก่า “เมืองแมนแดนสวรรค์” ซึ่งเป็นเพลงเล่าเรื่องเมืองสวรรค์ โดยวงดนตรีเนียน วิชิตนันท์ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงจากวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า ที่เป็นผลงานเพลงจากงานวิจัยของ รศ.ดร. สุชาติ แสงทอง ที่เป็นเพลงสำเนียงลาว มอญ ญวน จีน แขก ฝรั่ง และไทย และผลงานเพลงสมัยใหม่ของศิลปินชาวนครสวรรค์ ขับร้องโดยนักร้องชาวนครสวรรค์ นางสาวมัลลิกา ชมภู นายอภิชาติ จุมพล และนายสร่างศัลย์ เรืองศรี หรือ หนู มิเตอร์ ซึ่งเป็นความภูมิใจของชาวนครสวรรค์อย่างยิ่ง ปิดท้ายด้วยการแสดงขับร้องประสานเสียง วงปล่อยแก่ปากน้ำโพ วงปล่อยแก่บุรีรัมย์ วงปล่อยแก่นครราชสีมา ควบคุมวงโดย พันเอก ดร. ประทีป สุพรรณโรจน์ สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบบทเพลงโดย ดร. สุชาติ วงษ์ทอง ด้วย
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว นอกจากมุ่งหวังการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ผ่านการนำเพลงพื้นบ้านมาเรียบเรียงใหม่ ที่บรรเลงโดยวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้าแล้ว ยังถือเป็นการแสดงบทเพลงที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน และกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองนครสวรรค์ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์และเป็น Soft Power ของจังหวัดต่อไป
นอกจากนี้ รศ.ดร.สุชาติ แสงทอง คณบดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ “ประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี” Young Thai Musicians Competition วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพลังสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่ โดยวงไทยชิมโฟนีออร์เคสตรา รอบชิงชนะเลิศ ชิงถ้วยพระราชทาน ณ พาสาน อาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์