ร้อยเอ็ด-วัฒนธรรมจังหวัดฯส่งเสริมการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมการทำฟืมทอมือ Soft Power แหล่งทุนทางวัฒนธรรม
ภาพ-ข่าว:คมกฤช พวงศรีเคน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 มิถุนายน 2567 นายยุทธนา บุศเนตร วัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดการอบรมทำฟืมทอมือ โครงการแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมการทำฟืมทอมือ ที่ กลุ่มวิสาหกิจทำฟืมและแปรรูปผลิตภัณฑ์ฟืม บ้านเลขที่ 16 หมู่ 12 ตำบลบ้านเขือง อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี ผศ.ดร สาธิต กฤตลักษณ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้แทนนายอำเภอเชียงขวัญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเขือง คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้บริหาร ครู นักเรียน และชาวตำบลบ้านเขือง เข้าร่วมกิจกรรม
นายยุทธนา บุศเนตร วัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การจัดโครงการฯ ในครั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำฟืมและส่งเสริมนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลและการนำทุนวัฒนธรรมมาสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และชุมชนอย่างยั่งยืน กิจกรรมในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2567 กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป จำนวน 50 คน โดยมี นางพรพิมล ไพรบูณ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจทำฟืมและแปรรูปผลิตภัณฑ์ฟืม และคณะสมาชิกกลุ่มทำฟืม เป็นครูฝึกสอน
“ฟืม” เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับทอผ้า มีตัวฟืมที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง เป็นกรอบสี่เหลี่ยม มีฟันซี่เล็ก ๆ เรียงกันเป็นตับอยู่กลาง และระยะห่างของฟันเป็นที่ใช้สำหรับสอดเส้นไหมผ่าน ความกว้างของฟืม ประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร ส่วนความยาวของฟืม คือความกว้างของผืนผ้าในการใช้ฟืม เนื่องจากการทอครั้งต่อไปจะต้องคงเหลือเส้นไหมที่ทอครั้งก่อนไว้ เพื่อนำมาผูกกับเส้นไหมที่ต้องการทอครั้งต่อไป โดยไม่ให้เส้นไหมจากการทอครั้งก่อนหลุดออกจากฟืม ไม่เช่นนั้นจะต้องนำเส้นไหมมาสอดผ่านฟืนใหม่ ซึ่งจะต้องใช้เวลานานมาก ปัจจุบันผู้คนใช้เสื้อผ้าสำเร็จรูปกันมาก ฟืมทอมือจึงไม่ค่อยนิยมทำกัน ฟืมทอมือจึงลดน้อยลง สมควรได้รับการอนุรักษ์ สืบสาน สืบทอดให้การทำฟืมคงอยู่ต่อไป