สมุทรปราการ-ผ่าปลาหมอคางดำ พบ “ เคย ” เต็มท้อง

สมุทรปราการ-ผ่าปลาหมอคางดำ พบ “ เคย ” เต็มท้อง

ภาพ-ข่าว:สุรศักดิ์ / อัญมณี คงสินธ์

              ชาวประมงโวย เป็นตัวทำลายล้างสัตว์น้ำวัยอ่อน อาจทำให้สูญเสียอาชีพ วอนกรมประมงเร่งแก้ไข คลิปภาพการผ่าท้องปลา ที่ชาวประมงถ่ายไว้เมื่อเดือน ธันวาคม 2566 แต่ใช้แทนปัจจุบันได้ มีลักษณะคล้ายกัน
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ที่ท่าเทียบเรือสะพานปลา หมู่ 6 ต.ท้ายบ้าน อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ สำรวจปลาหมอคางดำจำนวน 2 ตัวสภาพถูกผ่าท้องแล้ว หลังจากที่ชาวประมงพื้นบ้านจับได้ในทะเลอ่าวไทยห่างจากชายฝั่งไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร ดูว่ามีอะไรอยู่ในท้องและลำไส้ของปลา
             นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า จากการนำปลาหมอคางดำ ที่ชาวประมงจับได้ 2 ตัวแต่มีการผ่าท้องชำแหละไปแล้ว โดยตัวแรกไม่มีเครื่องในอยู่ในลำตัว ส่วนตัวที่สองยังมีเครื่องในอยู่ จึงได้นำซากมาตรวจสอบ พบมีเคยและลูกปลาอยู่ในช่องท้อง รวมถึงทำการวัดขนาดความยาวของลำไส้ นำไปตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง ว่าจะมีอะไรอยู่ในระบบทางเดินอาหารบ้าง ตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันอะไรได้อย่างชัดเจน เนื่องจากกรมประมงไม่ได้รับปลาหมอคางดำตัวเป็น ๆ นำมาผ่าพิสูจน์
               นางอัญญานี แย้มรุ่งเรือง ผอ.ศูนย์วิจัยพัฒนาและพัฒนาประมงทะเลสมุทรปราการ กล่าวว่า ได้บอกกับชาวประมงไปแล้ว ต่อไปขอให้ส่งปลาหมอคางดำแบบมีชีวิตไม่ต้องชำแหละ ฝ่ายวิชาการจะได้ทำการผ่าพิสูจน์เอง ดูว่าพบสิ่งมีชีวิตอะไรอยู่ในท้องของปลาหมอคางดำบ้าง เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจน หากรู้แล้วว่าปลาหมอคางดำกินอะไรไปบ้าง ก็จะส่งเรื่องต่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการในขั้นตอนต่อไป “เคย” ไม่ได้เป็นอาหารของปลาหมอคางดำเท่านั้น ยังมีสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่กิน “เคย” เป็นอาหารด้วย เช่น วาฬ แต่ขณะนี้ ปลาหมอคางดำ เหมือนตกเป็นจำเลยของสังคม ว่าเป็นตัวทำลายล้าง กิน “เคย” จนหมด สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจกับชาวประมง ซึ่ง “เคย” ไม่ได้มีตลอดทั้งปี ปลาหมอคางดำ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้ “เคย” มีปริมาณน้อยลง
              นายพงษ์ศักดิ์ มีศิริ อายุ 48 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ระหว่างที่ตนทำการประมงอยู่ในทะเลห่างจากฝั่งประมาณ 1.5 กิโลเมตร จับปลาหมอคางดำได้ 1 ตัว และ หลานซึ่งอยู่เรืออีกลำจับได้ 1 ตัว รวมเป็น 2 ตัว แต่ระหว่างนำเรือเข้ามาฝั่งลังน้ำแข็งไปทับปลาหมอคางดำตาย ตนจึงทดลองผ่าดูว่ามีอะไรอยู่ในท้องบ้าง ปรากฏพบ”เคย”กับลูกปลาตัวเล็กอยู่ในท้อง จึงนำเข้าฝั่งมาให้เจ้าหน้าที่กรมประมง ตนพบปลาหมอคางดำ อยู่ริมตลิ่งมานานนับปีแล้ว เคยแจ้งเจ้าหน้าทีกรมประมงให้ทราบแต่เขาไม่สนใจ กระทั่งเป็นข่าวดังขึ้นมา เคยจับได้มากมายแต่ไม่มีใครรับซื้อจึงต้องปล่อยทิ้งไป และ “เคยโก่ง” ที่มีราคาขายกิโลกรัมละ 30 บาท ตอนนี้มีปริมาณลดน้องลงหายไป 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนลูกปลากระบอกเมื่อโตจับขายได้กิโลกรัมละร้อยกว่าบาท แต่ถูกปลาหมอคางดำราคากิโลกรัมละ 15 บาทกินเรียบ ไม่เหลือให้โต อย่างนี้จะเก็บปลาหมอคางดำไว้ทำไม
            นายพงษ์ศักดิ์ มีศิริ อายุ 48 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ก่อนหน้านี้ หา “เคย” ได้วันละ 10 ตะกร้าขายได้เป็นเงิน 8 พันบาท มีต้นทุน 5 พันบาท เหลือกำไร 3 พันบาท แต่เดี๋ยวนี้หาได้วัน 3 พันบาท มีต้นทุน 5 พันบาท ทำให้ขาดทุนมาตลอดเวลา 5 เดือน ดังนั้นคิดได้ว่าปลาหมอคางดำในทะเล มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ปกติใน 1 ปี จะจับ “เคย” ได้ 3 เดือน สร้างรายได้ให้กับครอบครัว แต่ปีนี้ขาดทุนมาตลอด สาเหตุเพราะปลาหมอคางดำนี้แหละ ส่วนเรื่องที่รัฐบาลให้ราคารับซื้อ 15 บาทต่อกิโลกรัม ตนเห็นดีด้วย แต่ปัญหาคือชาวประมงจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อน้ำมันมาเติมเรือ เพื่อขับออกไปจับปลาหมอคางดำ

นายประจวบ มีศิริ อายุ 57 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า เมื่อก่อนหา “เคย” ได้ประมาณวันละ 1 พันกิโลกรัม หรือ 20 ตะกร้า แต่ขณะนี้เหลือวันละไม่ถึง 10 ตะกร้า “เคย” สภาพสวย ๆ ขายได้ตะกร้าละ 800 บาท ถ้าไม่สวยขายได้ 400 บาท ราคาหายไปครึ่งนึง ส่งผลกระทบกับชาวประมงเยอะ ไม่รู้ว่าสัตว์น้ำหายไปไหน ตอนนี้มีปลาหมอคางดำ ที่ชอบกินสัตว์น้ำวัยอ่อนเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย ย้อนไป 30 ปีก่อนหน้านี้ จะมีลูกกุ้ง ลูกปลา อยู่เยอะตามริมตลิ่งฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เดี๋ยวนี้แทบจะไม่มีเหลืออยู่เลย พร้อมตัดพ้อถึงกรมประมงว่า 8 ปีที่มีการยกเลิกเครื่องมือทำการประมงบางอย่างไป แต่ทำไมสัตว์น้ำกลับมีปริมาณลดน้อยลง ซึ่งที่จริงแล้วต้องมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่วนเรื่องปริมาณ “เคย” ที่มีจำนวนลดน้อยลง ตน คิดว่าปลาหมอคางดำ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดปัญหานี้

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!