ประจวบคีรีขันธ์-เลขเด็ด”หลวงปู่นาค”เกจิดังครบรอบมรณภาพ 90 ปี ในงานวันบุพการี วัดหัวหิน
ภาพ-ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร
เมื่อวันที่ 24 ก.ค.67 ที่ศาลาปฏิบัติธรรมวัดหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ พระครูพิสุทธิ์ภาวนาพิธาน (เอกดนัย โชติธมโม) ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอหัวหิน เจ้าอาวาสวัดหัวหิน ได้จัดงานวันบุพการีขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการน้อมรำลึกครบรอบปีที่ 90 การมรณภาพของ “หลวงปู่นาค ปุญญนาโค” หรือพระครูวิริยาธิการี เจ้าอาวาสวัดหัวหินองค์แรก พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง พร้อมทั้งทำบุญอุทิศถวายให้อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวหินทุกรูป โดยมีพระเทพวชิรสุธี เจ้าคณะจังหวัดประจวบฯ (ฝ่ายธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระเถระและเจ้าอาวาสในเขตประจวบฯ-เพชรบุรี รวม 67 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์
นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน นางอุษา พวงวลัยสิน นายกกิ่งกาชาดอำเภอหัวหิน นางไพลิน กองพันธ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน คณะผู้บริหารเทศบาล ศิษยานุศิษย์และประชาชนชาวหัวหินนับพันคนร่วมในพิธี พร้อมกันนี้ผู้ใจบุญจำนวนมากต่างนำอาหารคาวหวาน ไข่ ผลไม้ เครื่องดื่มนานาชนิดร่วมออกโรงทานแจกจ่ายให้ประชาชนที่ร่วมงานท่ามกลางสายฝนโปรยปราย และต่างหาซื้อเลขเด็ด “หลวงปู่นาค” ครบรอบ 90 ปี ไว้เสี่ยงดวงกันอย่างคึกคัก
“หลวงปู่นาค” เกิดเมื่อปี พ.ศ.2400 เป็นบุตรของนายพ่วง-นางสุ่ม พ่วงไป มีพี่น้องรวมทั้งหมด 5 คน ท่านเป็นคนที่ 2 บ้านเดิมอยู่ที่บ้านลัดโพ อ.คลองกระแซง จ.เพชรบุรี หัดเรียนเขียนอ่านอักขระสมัยที่วัดลัดโพกับพระอธิการเมืองอยู่ 1 ปี แล้วย้ายไปอยู่กับพระอธิการสุก วัดหลักป้อม จ.สมุทรสงคราม เรียนทางพระปริยัติธรรมและบาลีธรรมอยู่หลายปี จนอายุย่าง 19 ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณร กระทั่งอายุ 21 ปี จึงอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดหลังป้อม
ได้รับฉายาว่า “ปุญญนาโค” เริ่มศึกษาวิปัสสนาธุระและรับการถ่ายทอดพุทธาคมจากหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม นอกจากนี้ยังได้ศึกษาวิชาอาคมจากหลวงพ่อเอี่ยม วัดลัดด่าน และ หลวงพ่อภู่ วัดบางกะพ้อม จนมีเกียรติคุณเลื่องลือด้านวิทยาคมอย่างยอดเยี่ยม ต่อมาในปี 2464 ท่านได้ลาสิกขาออกมาช่วยครอบครัว และแต่งงานกับนางแจ่ม มีบุตร 1 คน ก่อนที่จะเลิกร้างกันไป และเกิดความเบื่อหน่ายทางโลกตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้งที่วัดโตนดหลวง จ.เพชรบุรี จำพรรษาอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนมาสร้างวัดวังก์พง ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวบ้านหัวหินได้พร้อมใจกันสร้าง “วัดอัมพาราม” ขึ้น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดหัวหิน” ขุนศรีเสละคาม (พลอย กระแสสินธุ์) กำนันโต และผู้ใหญ่กล่ำ เป็นตัวแทนชาวบ้านไปอาราธนาท่านมาเป็นเจ้าอาวาส เพราะเป็นที่เคารพเลื่อมใสของคนในท้องถิ่นนั้น นับแต่นั้นมาท่านได้พัฒนาวัดหัวหินจนกระทั่งมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมวัดอื่นๆ บั้นปลายชีวิตหลวงปู่นาคเริ่มอาพาธด้วยโรคบวมตามข้อ ปี พ.ศ.2475 รักษาตัวเรื่อยมาอาการไม่หายขาด ก่อนที่จะมรณภาพลงเมื่อเวลา 15.53 น. วันที่ 24 ก.ค.2477 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองยาวนานถึง 38 ปี มีอายุพรรษาได้ 43 พรรษา จากนั้นมาได้มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสต่อมาจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 10 รูป