ลำปาง-นำร่องติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าที่โรงพยาบาลแม่เมาะ ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 600,000 บาทต่อปี
ภาพ-ข่าว:พรปวีณ์ สุรินทร์มงคล
โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่เดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) นำร่องติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงพยาบาลแม่เมาะ ขนาด 80 KW พร้อมแบตเตอรี่ 80 kWh ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 600,000 บาทต่อปี และยังมีไฟฟ้าสำรองไว้ใช้รักษาเวชภัณฑ์ที่ต้องอยู่ในห้องควบคุมอุณหภูมิ
นางฐิติพร สุภาษี หัวหน้าหน่วยพัฒนาโครงการ โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ แจ้งข้อมูลโครงการส่งเสริมพลังงานสะอาดด้วยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าในหน่วยงานราชการอำเภอแม่เมาะว่า ระบบผลิตไฟฟ้าพลัง งานแสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงานและระบบบริหารจัดการพลังงานซึ่งประกอบด้วยชุดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้ากระแสตรงและจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงผ่านอินเวอร์เตอร์ เพื่อเปลี่ยนไฟฟ้าจากกระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับชนิดสามเฟส แรงดัน 380 โวลต์ ความถี่ 50 เฮิรตซ์ จ่ายโหลดร่วมกับระบบไฟฟ้าประจำอาคารของโรงพยาบาลแม่เมาะ พร้อมระบบป้องกัน
โดยมีระบบตรวจวัด คำนวณ บันทึกและแสดงผลการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งประจำอาคาร พร้อมระบบประมวลผลและแสดงผลผ่านเครือข่ายอินเตอร์ เน็ต ขณะนี้ดำเนินการติดตั้งแล้วที่โรงพยาบาลแม่เมาะ จำนวน 80 KW พร้อมแบตเตอรี่ 80 KWh ใช้งบประมาณสนับสนุนจาก กฟผ. จำนวน 2 ล้านบาทและกองทุนพัฒนาไฟฟ้ารอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปาง อีกจำนวน 3.15 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 5.15 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลแม่เมาะได้ 600,000 บาทต่อปี โดยมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 8 ปี นอกจากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากสายส่งหลักแล้ว ระบบดังกล่าวยังใช้เป็นไฟฟ้าสำรองในการเก็บรักษาเวชภัณฑ์และวัคซีนที่ต้องอยู่ในห้องควบคุมอุหภูมิเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับได้อีกด้วย
ในเดือนกรกฎาคม 2567 นี้ บริษัทผู้รับจ้างติดตั้งอุปกรณ์ ทดสอบจ่ายไฟฟ้าในระบบของโรงพยาบาล พร้อมทั้งจัดอบรมให้ความรู้การใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าดังกล่าวให้กับบุคลากรของโรงพยาบาลแม่เมาะ ทั้งนี้ในปี 2567 โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่มีแผนงานต่อยอดกิจกรรมหลังจากหน่วยงานในชุมชนที่ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานใช้งานจริงแล้ว จะเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลเมือง (City Data Platform) เพื่อติดตามข้อมูลแหล่งผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ดังกล่าว สร้างเครือข่ายหรือระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ขึ้นในพื้นที่อำเภอแม่เมาะเรา ในอนาคตอาจต่อยอดไปสู่แผนการศึกษา P2P Energy Trading ทดลองซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาคารต่อไป เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานใน Ecosystem ที่จะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับหน่วยงานราชการและชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ ที่ปัจจุบันดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานใช้งานจริงเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ โรงพยาบาลแม่เมาะ, กองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอแม่เมาะ, ที่ทำ การปกครองอำเภอแม่เมาะ, โรงเรียนอนุบาลแม่เมาะ, วิทยาลัยเทคนิค กฟผ.แม่เมาะ, ศูนย์ฝึกอบรม กฟผ.แม่เมาะ, อาคาร The Blocks กฟผ. และ Vertical Farm ในโครงการนิคมชุมชนเกษตรนำร่องตำบลบ้านดง ซึ่งแผนงานขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมพลังงานสะอาด Energy Management System (EMS) ในปีต่อๆไปนั้นจะส่งเสริมสนับสนุนชุมชนอย่างต่อเนื่องพร้อม เชื่อมโยงแหล่งงบประมาณทั้งภายในและภายนอกพื้นที่อำเภอแม่เมาะ