ประจวบคีรีขันธ์-สภาองค์กรของผู้บริโภคประจวบนำร่องแก้ปัญหาไฟฟ้าดับ สาเหตุทำผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิต
ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ
วันที่ 16 ส.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ ที่ห้องประชุมโยธิน ชั้น 3 โรงแรมหาดทอง อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์(TCC) ได้ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์(กฟภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์(อบจ.) จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กลไกขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภคในกลุ่มเปราะบาง เรื่อง ผู้ใช้บริการไฟฟ้าที่มีบุคคลอยู่ในความดูแล หรือผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล
โดยมี นางจารุรัตน์ พัฒน์ทอง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายธีรภาพ เจริญสมบัติ ผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสราวุฒิ ลิ้มอรุณรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน นายสุรัตน์ มัจฉา คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต(คพข)เขต 10 รุ่นที่ 4 นางสาวธนพร บางบัวงาม หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรี ขันธ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ลงนามทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมี สมาชิกเครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภค และ อสม.จากทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมกิจกรรม
นางสาวธนพร บางบัวงาม หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากปัญหาที่ผ่านมา กรณีเกิดไฟฟ้าดับโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า หรือการไฟฟ้าตัดกระแสไฟในพื้นที่ต่างๆโดยที่ไม่ทราบว่าพื้นที่เหล่านั้นมีผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องดูดเสลด และอื่นๆ รวมไปถึงกรณีเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นสาเหตุทำให้ไฟฟ้าดับอันเป็นเหตุให้ผู้ป่วยติดเตียงขาดโอกาสทางการรักษา หรือ มีชีวิตอยู่ต่อด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และทำให้เสียชีวิตหากต่อกระแสไฟฟ้าให้ไม่ทัน ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงได้ขับเคลื่อนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา หากจะมีการตัดกระแสไฟก็ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และต้องมีไฟฉุกเฉินสำรองให้กับบ้านผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้กระแสไฟกับอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านั้น
ด้าน นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า กฎของการไฟฟ้า และ กกพ.คือ ไฟฟ้าห้ามดับ ในบ้านผู้ป่วยติดเตียงทุกกรณี หากการไฟฟ้าจะดับไฟก็ต้องปฏิบัติตามกฎโดยการนำเครื่องปั่นสำรองไฟไปติดตั้งให้กับบ้านผู้ป่วยติดเตียง และบ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง ระเบียบของการไฟฟ้าห้ามตัดไฟเด็ดขาดทุกกรณี ถึงแม้ว่าบ้านผู้ป่วยติดเตียงหลังนั้นไม่ได้จ่ายค่าไฟหรือค้างค่าไฟเกินกำหนดก็ตาม การไฟฟ้าก็ไม่สามารถตัดไฟได้ แต่ขอร้องขอให้ท่านจ่ายค่าไฟเพราะธุรกิจไฟฟ้าเป็นธุรกิจบริการสาธารณะ โดย กกพ .มีมติบริการสำรองไฟให้กับผู้ป่วยติดเตียงมาได้ประมาณ 2 ปี หากต้องมีการตัดไฟ แต่จากปัญหาที่ผ่านมาเกิดเหตุการไฟฟ้าตัดกระแสไฟแล้วทำให้บ้านผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เครื่องดูดเสลด หรือเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นแล้วผู้ป่วยเสียชีวิตนั้น เป็นเพราะการไฟฟ้าไม่ทราบ หรืออาจจะอยู่ในชนบท หรือ มีการจั้มไฟต่อจากบ้านข้างเคียงไปใช้ จึงทำให้การไฟฟ้าไม่ทราบ และมีการตัดกระแสไฟโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และไม่ได้นำเครื่องสำรองไฟไปติดตั้งให้
เพราะฉะนั้นจะต้องอาศัยเครือข่าย อสม.ในแต่ละพื้นที่ สำรวจ และแจ้งทำประวัติให้กับการไฟฟ้า เพื่อการไฟฟ้าจะได้ทราบหากต้องมีการตัดไฟจะได้นำเครื่องสำรองไฟไปติดตั้งให้ก่อนที่จะมีการดับไฟ นอกจากนี้ยังมีสายไฟ สายสื่อสาร ที่ห้อยระโยงระยาง และสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เหล่านี้เป็นหน้าที่โดยตรงที่ กกพ.รับผิดชอบ เพราะฉะนั้นหากประชาชนที่เดือดร้อนเกี่ยวกับไฟฟ้าสามารถโทรศัพท์ไปแจ้งได้ที่สายด่วน 1204 ในวันเวลาราชการเวลา 08.00-17.00 น. หรือ ผ่าน Line @ERCvoico ถ่ายรูปส่งไปแจ้งความเดือดร้อน ทาง กกพ.จะประสานงานแก้ไขปัญหาให้ทันนที และเมื่อแก้ปัญหาให้เสร็จแล้วก็จะแจ้งผลให้ท่านทราบต่อไป นายวรวิทย์ กล่าว